ข่าวมีค่า ติดตามแนวคิดของกรมศุลกากร ที่ศึกษาความเป็นไปในการจัดเก็บภาษีสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ จากเดิมที่ยกเว้นให้สินค้าที่ราคาไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จากการที่ภาครัฐมองว่านี่คือการช่วยเหลือเอสเอ็มอีในประเทศ แต่อีกฝ่ายเห็นว่ารัฐมีปัญหาด้านการคลังจนต้องหาทางเก็บภาษีเพิ่ม
ที่มา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้กรมศุลกากรศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย จากกรณีที่กรมศุลกากรยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับสินค้าที่มีการส่งพัสดุทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ราคาไม่เกินชิ้นละ 1,500 บาท
ทำไมต้องเก็บภาษี
- สิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ หากราคาไม่ถึงเกณฑ์ จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อเอสเอ็มอีไทยในการแข่งขัน
- ผู้บริโภคสั่งสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ราคาไม่ถึง 1,500 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
- การยกเว้นภาษีถูกใช้เป็นช่องโหว่หลบเลี่ยงภาษี ด้วยการสำแดงสินค้าที่เป็นเท็จ หรือสำแดงราคาไม่ถึงชิ้นละ 1,500 บาท
ผลที่ตามมา
- กรมศุลกากรยอมรับว่าแนวคิดนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว ต้องศึกษาอย่างละเอียดก่อนจะดำเนินการ เพื่อไม่ให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ
- กรมศุลกากรถูกวิจารณ์อย่างหนัก ว่าแนวคิดดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน
- ประชาชนมองว่าการพยายามหาช่องทางเก็บภาษี สะท้อนว่าการคลังของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต
- เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้กรมศุลกากรต้องออกมาชี้แจง “ขั้นตอนการปฏิบัติงานพิธีการศุลกากรทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ” ว่ามีขั้นตอนอย่างไร
พิธีการศุลกากรทางไปรษณีย์
เมื่อมีสิ่งของส่งมาจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะทำการคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- ประเภทที่ 1 ของซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท เป็นของยกเว้นอากรขาเข้า
- ประเภทที่ 2 ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกันหรือเข้ามาถึงพร้อมกัน หากมีราคา FOB (Free On Board) รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท เป็นของต้องชำระอากร
- ประเภทที่ 3 ของอื่นๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2
สถิติที่น่าสนใจ
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากรระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวนสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 35 ล้านกล่องต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 24 ล้านกล่อง ที่มีมูลค่าสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท หากมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มประมาณ 700 ล้านบาท
แนวคิดเรื่องการเก็บภาษีสิ่งของที่มีการส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ราคาไม่เกิน 1,500 บาท แม้กรมศุลกากรจะชี้แจงว่านี่คือการสร้างความเป็นธรรมให้กับเอสเอ็มอีในประเทศ แต่จากการที่ประชาชนมีการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดกระแสในทางลบต่อกรมอย่างหนัก ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่า ภาครัฐจะยอมถอย หรือจะเดินหน้าผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้
ที่มา :
- Facebook กรมศุลกากร : The Customs Department : www.facebook.com/customsdepartment.thai/posts/3963848967009063
- เว็บไซต์ กรมศุลกากร : www.customs.go.th/list_strc_simple_neted.php?ini_content=individual_160503_03_160922_01&lang=th&left_menu=menu_individual_submenu_01_160421_02
- มติชน : www.matichon.co.th/economy/news_2634675
- สยามรัฐ : https://siamrath.co.th/n/229355