ข่าวมีค่า ติดตามข่าว “ร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” หรือ กบช. ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับแรงงานในระบบเมื่อเกษียณอายุ โดยแรงงานและนายจ้างจะต้องร่วมกันส่งเงินสบทม และแรงงานสามารถเลือกได้เมื่ออายุ 60 ปี ว่าจะรับเงินในรูปแบบบำเหน็จหรือบำนาญ
ที่มา
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 อนุมัติหลักการ “ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …” หรือร่าง พ.ร.บ. กบช. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
อะไรคือ “ร่าง พ.ร.บ. กบช.”
คือร่างกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ เพื่อให้แรงงานได้มีการออมเพื่อการเกษียณเพิ่มเติม และมีรายได้ไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอในการดำรงชีพ
เป้าหมายของ กบช.
เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับสำหรับแรงงานในระบบ โดยให้ผลประโยชน์ในรูปแบบการจ่ายบำเหน็จบำนาญ ขณะเดียวกันกองทุนจะเป็นศูนย์กลางการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบำเหน็จบำนาญด้วย
ใครบ้างที่ต้องเข้าร่วม กบช.
- ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป และไม่เกิน 60 ปี
- ลูกจ้างเอกชน
- ลูกจ้างชั่วคราวของราชการ
- พนักงานราชการ
- เจ้าหน้าที่องค์กรมหาชน
- พนักงานในรัฐวิสาหกิจ
- แรงงานที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
วิธีการจ่ายเงินสมทบ
- ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินสมทบของแต่ละฝ่าย
- กรณีลูกจ้างเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท ให้นายจ้างส่งเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว
- ปีที่ 1 – 3 ลูกจ้างส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง
- ปีที่ 4 – 6 ลูกจ้างส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง
- ปีที่ 7 – 9 ลูกจ้างส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง
- ตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไป ลูกจ้างส่งเงินไม่น้อยกว่า 7 – 10% ของค่าจ้าง
- กำหนดเพดานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อเดือน เช่น
- ลูกจ้างและนายจ้างส่งเงินเพิ่มได้ สูงสุดไม่เกิน 30% ของค่าจ้าง โดยไม่จำกัดเพดานค่าจ้าง
การรับเงินจาก กบช.
- สมาชิกจะได้รับเงินเมื่ออายุครบ 60 ปี
- สามารถเลือกเป็นบำเหน็จ หรือบำนาญเป็นรายเดือน ระยะเวลา 20 ปี
- กรณีเลือกบำเหน็จ ได้รับเงินเท่ากับจำนวนเงินสะสมที่ลูกจ้างส่ง + เงินสมทบจากนายจ้าง + รวมผลตอบแทน
- กรณีเลือกบำนาญ แล้วต้องการเปลี่ยนเป็นบำเหน็จก็สามารถทำได้ โดยจะได้รับเงินเท่ากับเงินบำนาญที่เหลือ
- กรณีที่ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจนใกล้ถึงแก่ชีวิตก่อนอายุครบ 60 ปี เมื่อออกจากงานแล้ว สามารถขอรับเงินสะสมและเงินสมทบ บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
- เงินสะสม เงินสมทบ เงินผลตอบแทน และเงินที่ได้รับเมื่อเกษียณอายุ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข่าวมีค่า เห็นว่าการตั้ง กบช.เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์อย่างมากกับแรงงาน โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจว่าแรงงานจะมีเงินใช้ในยามเกษียณ แต่อีกด้าน ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การส่งเงินสมทบอาจสร้างผลกระทบต่อทั้งแรงงานและนายจ้าง และอาจทำให้วิธีการจ้างงานในอนาคตเกิดความเปลี่ยนแปลงด้วย
ที่มา :
- Facebook : ไทยคู่ฟ้า : www.facebook.com/ThaigovSpokesman/posts/1146685589130579
- ข่าวสด : www.khaosod.co.th/economics/news_6236667
- Kapook.com : https://money.kapook.com/view239482.html