Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“ถ่ายเป็นเลือด” ระวัง “ลำไส้ใหญ่ – กระเพาะ” ผิดปกติ

ข่าวมีค่า นำเสนอคำเตือนจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่แนะนำว่าหากเกิด “อาการถ่ายเป็นเลือด” ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณบอกความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร หรือผลต่อเนื่องจากโรคตับ และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ จะได้วินิจฉัยได้อย่างตรงจุดและรักษาได้อย่างรวดเร็ว  

นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ แพทย์ประจำศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลนครธน ผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินอาหารและตับ กล่าวถึงอาการ “ถ่ายเป็นเลือด” ว่า เป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหลายโรค 

“อาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด บ่งบอกถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่โรคร้ายแรงที่สุดอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือเนื้องอกในลำไส้, โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง, โรคกระเปาะหรือถุงในลำไส้ใหญ่อักเสบ ซึ่งพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุที่ผนังลำไส้เปราะบาง, โรคริดสีดวงทวาร, โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร รวมถึงผลต่อเนื่องจากโรคตับแข็ง หลายโรคถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีจะกลายเป็นโรคเรื้อรัง ต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน เพราะหากมีอาการกำเริบของโรค สามารถเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้”      

“ถ่ายเป็นเลือด” ระวัง “ลำไส้ใหญ่ – กระเพาะ” ผิดปกติ

นพ.สมบุญ แนะนำว่าให้สังเกตสีและลักษณะของอุจจาระ ซึ่งสามารถบ่งบอกโรคและระบุตำแหน่งความผิดปกติในลำไส้หรือกระเพาะอาหารได้ อาทิ อุจจาระกับเลือดผสมกันเป็นเนื้อเดียว มีเลือดสดสีแดงปน แสดงว่ามาจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย, อุจจาระปนเลือดสีคล้ำ แสดงความผิดปกติลำไส้ใหญ่ส่วนต้น หรือถ่ายเป็นเลือดดำคล้ำเหมือนยางมะตอย แสดงว่ามีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากเลือดผสมกรดที่มีในกระเพาะอาหารจึงเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำๆ และถ้าถ่ายแล้วเป็นเลือดแบบมีเลือดสดพุ่งตามมา บ่งบอกว่าเลือดมาจากลำไส้ใหญ่ส่วนล่างบริเวณใกล้ๆทวารหนัก อาจเป็นโรคริดสีดวงทวาร เป็นต้น 

“ผู้ป่วยควรสังเกตความรุนแรงของเลือดออกว่ามีเยอะแค่ไหน ตอนที่มีอาการพบสัญญาณชีพที่ผิดปกติไหม เช่น ถ่ายเป็นเลือดแล้วมีความดันต่ำลง ชีพจรเต้นเร็วขึ้น มีอาการเหมือนจะหน้ามืด เวียนศีรษะ ลุก-นั่งแล้วจะเป็นลม แสดงว่ามีภาวะเสียเลือดเยอะ เป็นภาวะที่ต้องรีบรักษาโดยเร่งด่วนและต้องมารักษาที่โรงพยาบาล แต่ถ้าถ่ายเป็นเลือดแล้วสัญญาณชีพยังปกติ สามารถตรวจภายหลัง 1 – 2 วันหลังเกิดอาการได้ แต่ไม่ควรทิ้งไว้นานเกินไป เพราะอาจมีภาวะเสียเลือดเรื้อรัง ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง กระตุ้นการเกิดโรคเลือดจาง และกระตุ้นให้อาการของโรคบางอย่างในตัวลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จนทำให้ยากต่อการรักษา”

ในการตรวจรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการถ่ายเป็นเลือด จะเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งปัจจุบันทางการแพทย์มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย คือ “การส่องกล้องทางเดินอาหาร” ที่ให้ผลชัดเจน สะดวกรวดเร็ว รู้ผลการตรวจในวันเดียว และสามารถให้การวินิจฉัยและการรักษาได้ในครั้งเดียวกัน โดยให้บริการที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ หรือ GI หนึ่งในศูนย์การแพทย์เฉพาะทางของโรงพยาบาลนครธน ประกอบด้วย การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น หรืออีจีดี (Esophagogastroduodenoscopy – EGD ) เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น  และการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง ที่เรียกว่า โคโลนอสโคปี (Colonoscopy) เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคลำไส้ใหญ่    

นายแพทย์สมบุญอธิบายการตรวจรักษาด้วยการส่องกล้องว่า “สามารถตรวจและรักษาได้ในคราวเดียว คือ ถ้าส่องกล้องแล้วเจอแผลมีจุดเลือดออกในกระเพาะอาหาร ก็สามารถใช้อุปกรณ์เข้าไปทำการรักษาเพื่อหยุดเลือดหรือฉีดยาเพื่อหยุดเลือดในตอนนั้นได้เลย หรือถ้าส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้วพบติ่งเนื้อ ก็สามารถตัดติ่งเนื้อออกมาตรวจได้ การส่องกล้องทางเดินอาหารนี้เป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน”

นอกจากใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.นครธน ยังให้การรักษาแบบบูรณาการ โดยแพทย์สหสาขาวิชาชีพ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย 

“ที่ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.นครธน มีทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ โดยเฉพาะวิสัญญีแพทย์ ประจำศูนย์ฯ ที่จะให้ยานอนหลับคนไข้ระหว่างการตรวจส่องกล้อง เพราะการตรวจลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหาร ถ้าคนไข้ยังรู้สึกตัวอยู่อาจจะรู้สึกไม่สบาย ในบางโรคที่ซับซ้อนขึ้น อย่าง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถ้าตรวจส่องกล้องไปเจอมะเร็ง ก็ต้องประเมินระยะของโรค บางรายต้องผ่าตัดและใช้เคมีบำบัด ต้องรักษาร่วมกับแพทย์สาขาอื่นๆ อย่างเช่น รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์ และอายุรแพทย์ด้านมะเร็งวิทยา เพื่อการรักษาโรคได้ครบถ้วนที่สุด” นพ.สมบุญกล่าว 

บริการของศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.นครธน เป็นแบบวันสตอปเซอร์วิส  โดยมี “ห้องเตรียมลำไส้” 6 ห้อง สำหรับคนไข้ได้พักเพื่อรับประทานยาเตรียมลำไส้ และมีห้องน้ำในตัวเพื่อให้คนไข้ถ่ายอุจจาระ รวมทั้งสามารถนอนพักได้ก่อนเข้าตรวจส่องกล้อง มี “ห้องส่องกล้อง” 4 ห้อง และ “ห้องพักฟื้น” พร้อมพยาบาลวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้คนไข้นอนพักผ่อนหลังตรวจเสร็จและรอฟังผลการตรวจได้ภายในวันเดียวกัน ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนค้างในโรงพยาบาล สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ “หลังส่องกล้องเสร็จ บางคนมีอาการ เช่น ปวดท้อง แน่นท้อง เนื่องจากมีแก๊สในลำไส้ เราก็ช่วยได้รวดเร็วด้วยการให้ยาลดอาการปวด ยาลดลมในลำไส้ โดยพยาบาลวิชาชีพจะคอยดูแลท่านอย่างใกล้ชิด”

ทั้งนี้ นพ.สมบุญ กล่าวย้ำเตือน ผู้มีอาการถ่ายเป็นเลือด บ่งบอกสัญญาณความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ควร ลดขั้นตอนการรักษาและป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพองค์รวม ผู้มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารและตับ สามารถตรวจรักษาหรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์การแพทย์เฉพาะทางนครธน ณ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลนครธน ชั้น 10 เปิดบริการทุกวันจันทร์ – อาทิตย์ เวลา 07:00 – 22:00 น. ด้วยบริการที่มุ่งมั่นใส่ใจ และการติดต่อที่สะดวกผ่านการสื่อสารทุกแพลตฟอร์ม โดยสามารถนัดหมายและติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2450-9999 ต่อ 1390-1392 หรือบริการนัดหมายผ่าน LINE Official @Nakornthon Hospital และเว็บไซต์ www.nakornthon.com

Exit mobile version