Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

มีผลแล้ว! “พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยผิดนัด – พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ”

ข่าวมีค่า สรุปสาระสำคัญของ “พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยผิดนัด” และ “พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ” สองมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับลูกหนี้และผู้ประกอบการ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากที่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว

ที่มา

พระราชกำหนด 2 ฉบับ ได้แก่ “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564” และ “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564” มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับเกี่ยวกับอะไร?

“พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564” หรือ “พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยผิดนัด” เป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาที่ลูกหนี้ถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม ส่วน “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564” หรือ “พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ” เป็นการออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงสภาพคล่องผ่าน “สินเชื่อซอฟต์โลน” และมาตรการฟื้นฟูกิจการอย่างโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้”   

พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยผิดนัด : ปรับดอกเบี้ยให้เป็นธรรม

“พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564” มีการปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเดิมที่กำหนดไว้ในกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ 2468 ไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาคือ 1. ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินควร 2. เจ้าหนี้บางรายอาศัยความไม่ชัดเจน กำหนดให้เมื่อผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินต้นทั้งหมด และ 3. สร้างความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม

รายละเอียดของพ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยผิดนัด” 

  1. แก้ไขมาตรา 7 อัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้กำหนดไว้ก่อน หรือไม่ได้มีกฎหมายกำหนด ปรับลดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 3 ต่อปี 
  2. แก้ไขมาตรา 224 อัตราดอกเบี้ยผิดนัด ปรับลดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี 
  3. กำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้จะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น จากเดิมที่มาตรา 224/1 ไม่ได้กำหนดไว้ ทำให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด
แก้กฎหมาย "ลดดอกเบี้ยผิดนัด"

พ.ร.ก.ฟื้นฟู : ช่วยผู้ประกอบการสู้โควิด-19

การออก “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564” เป็นเพราะการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐแก่ผู้ประกอบการ ผ่าน “พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan)” ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองกิจการต่อไปได้ 

รายละเอียดของพ.ร.ก.ฟื้นฟู” 

พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ประกอบด้วย 2 มาตรการ คือ 

  1. สนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟูหรือซอฟต์โลน) วงเงิน 250,000 ล้านบาท ทั้งที่เป็นลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับนำมาเสริมสภาพคล่อง ขยายเวลา ขยายวงเงิน ขยายการชดเชยรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และกำหนดดอกเบี้ยให้เหมาะสม
  2. สนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีหลักประกัน ด้วยการโอนทรัพย์ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงในการขายทรัพย์สินในราคาต่ำเกินไป และช่วยให้ธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้ต่อไป

พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ภาครัฐตั้งเป้าว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้และผู้ประกอบการให้ผ่านสถานการณืที่ยาลำบากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปได้ โดย ข่าวมีค่า จะติดตามต่อไปว่า หลังดำเนินการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าวแล้ว เกิดผลอย่างไรกับลูกหนี้และผู้ประกอบการบ้าง 

ที่มา :

www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/026/T_0001.PDF

www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/026/T_0005.PDF 

Exit mobile version