ทำไมคนในคอนโดยังไม่มีเตียง ทำไมเพื่อนฉันไม่ได้เตียง หลากหลายเหตุผลกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับ การบริหารจัดการเตียงเกี่ยวกับ ผู้ป่วยโควิดที่ต้องอาศัยการดูแลของทางการแพทย์ วันนี้ข่าวมีค่า จึงจะพาทุกๆ คนไปหาคำตอบและดูกระบวนการว่า ที่ผ่านมาเรื่องนี้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ผู้ติดโควิด-19
ทุกคนอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งให้โรงพยาบาลหรือแล็บเอกชนที่ตรวจพบประสานในเครือข่ายให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ทุกรายด้วย โดยขณะนี้ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร UHOSNET และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน บริหารจัดการเตียงเพื่อให้มีเพียงพอกับจำนวน
ผู้ติดเชื้อ พร้อมเปิด 3 สายด่วนเพื่อประสานหาเตียง คือ 1330 1668 และ 1669 รวมถึง “สบายดีบอต”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการพบผู้ติดเชื้อยังไม่ได้นอนโรงพยาบาล ไม่ได้แปลว่าเตียงไม่พอ แต่เกิดจากแล็บเอกชน
ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับโรงพยาบาล หรือการที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังไม่มีการขยายเตียงเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ อีกทั้งการค้นหาเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ต้องใช้เวลาในการประสานจัดหาเตียง
สำหรับการบริหารจัดการเตียงจะคัดกรองและแบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 3 ระดับ คือ สีเขียวไม่มีอาการหรือ
มีอาการเล็กน้อย อายุไม่มาก ไม่มีโรคร่วม หากมาจากการค้นหาเชิงรุกจะส่งดูแลใน รพ.สนาม หากมาจากการไปตรวจแล็บหรือโรงพยาบาลให้นำส่งเข้าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือรพ.สนาม ซึ่งทั้งสองส่วนดำเนินการตามมาตรฐานสถานพยาบาล มีการให้ปรอทวัดอุณหภูมิและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพื่อตรวจติดตามอาการทุกวัน หากมีอาการมากขึ้นจะส่งกลับเข้าโรงพยาบาลทันที ส่วนสีเหลืองและสีแดงที่มีอาการเพิ่มมากขึ้นจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด โดยศูนย์ส่งต่อ รพ.ราชวิถีจะเวียนส่งผู้ป่วยไปยัง รพ.สังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และ รพ.เอกชน โดยทุกโรงพยาบาลสำรองเตียงไอซียู เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจมีอาการมากขึ้น
“ขณะนี้มีเตียงรวม 9 พันกว่าเตียง เพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วที่มี 7 พันกว่าเตียง โรงพยาบาลทุกสังกัดมีการเบ่งเตียงเพิ่มขึ้น กทม.ก็ขยายรพ.สนาม ส่วนรถรับส่งผู้ติดเชื้อทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้ามาช่วยบริหารจัดการให้มีรถมากขึ้น ขณะนี้มี 50 คันจาก 3 บริษัทดูแลใน กทม. และจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ คาดว่าภายใน
1-2 วันจะแก้ไขปัญหานี้ได้ สำหรับแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน เป็นเพียงการเตรียมความพร้อม
ไม่ได้นำไปใช้จริงในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น ยังนำผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารับการรักษาได้” นพ.สมศักดิ์กล่าว