Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ศบค.สั่งรื้อ “บทลงโทษ-ค่าปรับ” คนไม่สวมหน้ากากอนามัย

ศบค.สั่งรื้อ "บทลงโทษ-ค่าปรับ" คนไม่สวมหน้ากากอนามัย

ศบค.สั่งรื้อ “บทลงโทษ-ค่าปรับ” คนไม่สวมหน้ากากใหม่ ยกเคสนายกฯกับคนไม่ยอมเสียค่าปรับจนเรื่องไปถึงศาลเป็นตัวอย่าง สั่งให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางและการบังคับใช้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคม และไม่สร้างภาระให้ประชาชน และไม่ให้นำระเบียบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติปี’63 มาบังคับให้ ขีดเส้นให้เสร็จใน 1 สัปดาห์

วันที่ 29 เมษายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวระหว่างแถลงข่าวเรื่องการปรับพื้นที่การควบคุมของศบค.ใหม่ว่า ที่ประชุม ศบค. วันนี้เห็นชอบให้มีการดำเนินการตามที่ ศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข (ศปก.สธ.) เสนอให้กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการบังคับใช้ ในการขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันการแพร่โรค ให้มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมและอย่างบูรณาการ

โดยประเด็นนี้มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย ที่นายแพทย์ทวีศิลป์ได้ย้อนให้ฟังว่าก่อนหน้านี้มีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกรณีไม่สวมหน้ากาก ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแนวทางแก้ไข “กรณีสืบเนื่องเกิดจากการที่ท่านนายกรัฐมนตรี เข้าประชุมและไม่สวมหน้ากากและให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเปรียบเทียบปรับด้วยความยินยอม แต่มีกรณีที่ไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ปรับ และเรื่องต้องไปถึงศาล เลยกลายเป็นประเด็นเกิดขึ้น และทำให้มีความยุ่งยากตามมา”

ดังนั้นที่ประชุมศบค.วันนี้ จึงให้กรมควบคุมโรคเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่ ออกระเบียบการเปรียบเทียบปรับกรณีไม่สวมหน้ากาก รวมถึงกรณีอื่นที่จำเป็นในสถานการณ์นี้ โดยยกเว้นไม่ให้นำระเบียบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ของการเปรียบเทียบปรับปี 2563 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมาบังคับใช้ โดยกำหนดอัตราการเปรียบเทียบปรับให้เหมะสมแก่กรณี และไม่สร้างภาระเกินสมควรแก่ประชาชน

พร้อมกำหนดขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อและผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับให้สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการที่เหมาะสมก่อนดำเนินการเปรียบเทียบปรับ เช่น ตักเตือน หรือให้ไปทำสาธารณประโยชน์ เป็นต้น หรือให้ทำประโยชน์เพื่อสังคม หรือปรับในอัตราที่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังให้ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาดำเนินการ work from home มาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการรวมกลุ่มและการแพร่เชื้อด้วย

ที่มา https://www.prachachat.net/general/news-658596

Exit mobile version