Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรมสรรพากรปรับภาษีเพื่อสนับสนุน SMEs สู่ยุคดิจิทัลสู้โควิด

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการให้ผู้ประกอบการ SMEs หักค่าใช้จ่ายได้ถึง 2 เท่า สำหรับค่าซื้อ หรือจ้างทำ หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่จ่ายให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำหรือผู้ให้บริการ ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมปรับเปลี่ยนธุรกิจก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

​ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมเพื่อก้าวทันเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

​1. ยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้ว ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อ หรือจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หรือ ผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วน ที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

​2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 1 ต้องไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) นั้น ตามพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

​3. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) หมายความว่า โปรแกรมหรือชุดคำสั่ง ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์หรือฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ ที่ใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจด้านต่างๆ เช่น โปรแกรมที่ใช้ในองค์กร โปรแกรมสมองกลฝังตัว โปรแกรมด้านการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ โปรแกรมที่ใช้ในการควบคุมและหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมและหรือเชื่อมโยงอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

โปรแกรมที่ใช้ในงานสนับสนุนการผลิต รวมไปถึงโปรแกรมที่ให้บริการในรูปแบบโปรแกรมบริการ (Software as a Service : SaaS) ที่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้บริการได้ตามความต้องการใช้งาน โดยทั่วไปโปรแกรมบริการนี้จะถูกจัดเก็บ อยู่บนเครื่องแม่ข่าย (Server) ของผู้ให้บริการที่ผู้ใช้บริการ สามารถเรียกใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือเป็นโปรแกรมที่จะถูกดาวน์โหลดลงสู่ตัวเครื่องของผู้ใช้บริการโดยผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งตามที่กำหนด เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดก็จะไม่สามารถเข้าใช้โปรแกรมดังกล่าวได้อีกต่อไป”

กรมสรรพากรปรับภาษีเพื่อสนับสนุน SMEs สู่ยุคดิจิทัลสู้โควิด

​ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่แพร่กระจายรวดเร็วและรุนแรง เป็นตัวเร่งให้ทั่วโลกต้องปรับตัวเปลี่ยนพฤติกรรม และการดำเนินชีวิตสู่ความปกติใหม่ หรือ New Normal มาตรการภาษีข้างต้น จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ SMEs มีการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อันเป็นการขับเคลื่อน SMEs ให้สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจและเติบโตอยู่รอดได้ โดยเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมในการเกื้อกูลกันระหว่าง SMEs ด้านดิจิทัลและ SMEs ในธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนรายได้ภายในประเทศ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนำพาประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป”​​

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

Exit mobile version