Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

มือ เท้า ปาก โรคที่ต้องเผ้าระวังในเด็กเล็ก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะในช่วงปิดเทอมนี้ เด็กๆ จะอยู่บ้านกับครอบครัว ขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ระวังป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หากมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

มือ เท้า ปาก โรคที่ต้องเผ้าระวังในเด็กเล็ก

วันนี้ (18 พฤษภาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่ของประเทศมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง อากาศเย็นลงและมีความชื้น ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ที่มักพบบ่อยในช่วงนี้ ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมของสถานศึกษาเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เด็กๆ จะอยู่บ้านกับครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องดูแลบุตรหลานและสังเกตอาการป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก เพราะอาจป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก เนื่องจากเป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2564 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 พฤษภาคม 2564 มีรายงานผู้ป่วย 14,559 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ แรกเกิด – 4 ปี (ร้อยละ 86) รองลงมาคืออายุ 5 ปี และอายุ 6 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ เชียงราย พะเยา น่าน สุราษฎร์ธานี และแพร่ ตามลำดับ

สำหรับอาการของโรคมือ เท้า ปาก จะเริ่มด้วยมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น ต่อมาจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชัก เกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวแนะนำว่า พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องดูแลและสังเกตอาการของบุตรหลานในช่วงที่อยู่บ้านอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กอาจบอกอาการเจ็บป่วยของตนเองไม่ได้ โดยวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก มีดังนี้

  1. ลดการสัมผัสเชื้อ ไม่นำมือที่สกปรกสัมผัสใบหน้า เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย ซึ่งมักจะติดอยู่บนมือแล้วนำเข้าปากหรือจับของเล่น ของใช้ ทำให้เชื้อกระจายสู่ผู้อื่นได้
  2. หมั่นทำความสะอาดของใช้และของเล่นของเด็กเป็นประจำ และเปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท
  3. หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำ เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือและลดการแพร่สู่ผู้อื่น
  4. หากบุตรหลานป่วย ให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ไม่พาเด็กป่วยไปในสถานที่แออัด แยกของใช้ส่วนตัวและไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ

ทั้งนี้ หากบุตรหลานมีอาการป่วยตามลักษณะข้างต้น ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป และวิธีป้องกันโรคดังกล่าวสามารถป้องกันได้ทั้งโรคมือ เท้า ปาก โรคโควิด-19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ได้ด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ที่มา : กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

Exit mobile version