Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

How to ใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19

How to ใช้สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้รับข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะกรณีที่เข้ารับการตรวจและรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลของเอกชน กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม จึงได้ร่วมบูรณาการเพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่จำเป็นและเหมาะสม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน และได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง สิทธิผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทราบถึงสิทธิที่พึงได้รับตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและเป็นไปตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิดังกล่าว โดยที่ สปสช. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งในสถานพยาบาลของทางราชการและสถานพยาบาลของเอกชน
  2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 วันที่ 21 เมษายน 2563 และวันที่ 27 เมษายน 2564 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกำหนดค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (Covid 19)) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกขน ซึ่งหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดขึ้น เพื่อรองรับสิทธิของผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนได้ทุกแห่ง และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ โดยที่สถานพยาบาลของเอกชนจะต้องดำเนินการส่งข้อมูลเพื่อขอเบิกเงินตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวมายัง สปสช. ก่อนที่จะส่งเรื่องไปยัง 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของเอกชนโดยตรงต่อไป

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ฯ ข้างต้น ให้แก่สถานพยาบาลต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและทั่วถึง เพื่อให้การดำเนินการป้องกันและการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยทั้ง 3 หน่วยงานเห็นพ้องกันที่จะร่วมกันคุ้มครองสิทธิของประชาชน ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ตามสิทธิของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49 วรรค 3 ซึ่งกำหนดให้บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว

Exit mobile version