Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

กรมการแพทย์เผยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ทำให้เสียชีวิตกะทันหัน โดยปราศจากสัญญาณเตือน

กรมการแพทย์เผยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ทำให้เสียชีวิตกะทันหัน โดยปราศจากสัญญาณเตือน
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก แนะนำภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ทำให้เสียชีวิตกะทันหันโดยปราศจากสัญญาณเตือน ต้องรักษาทันที โดยการทำ CPR และใช้เครื่อง AED

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า หัวใจของคนเราทำหน้าที่ สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ซึ่งต้องมีการเต้นเป็นจังหวะต่อเนื่องตลอดเวลา โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 36-42 ล้านครั้งต่อปี การที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นการสูญเสียการทำงานของหัวใจอย่างกระทันหันจากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่าง มีการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงหรือเต้นพริ้ว (Ventricular fibrillation หรือ VF) ซึ่งเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีสัญญาณเตือน ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ ผู้ป่วยจะเกิดอาการวูบหมดสติ เนื่องจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง อาจจะมีอาการชักเกร็งกระตุกร่วมด้วย ผู้ป่วยไม่หายใจ และคลำชีพจรไม่ได้ซึ่งถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องมีการกู้ชีพ (CPR) ทันที เพื่อให้มีออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงสมอง อย่างเพียงพอจนกว่าการทำงานของหัวใจจะกลับมาเต้นปกติ โดยใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) การปล่อยให้ล่าช้านานเท่าไหร่โอกาสการรอดชีวิตจะลดลงและถ้าสมองขาดเลือดนานเกินไปผู้ป่วย อาจจะฟื้นแต่มีความพิการทางสมองตามมา

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) พบได้ในทุกช่วงอายุแต่พบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคน ที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปีโดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2 เท่า สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลามักจะพบได้บ่อยใน ขณะออกกำลังกาย โดยไม่มีสัญญานเตือน แตกต่างจากภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) ซึ่งมักจะหมายถึงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โดยทั่วไปจะมีสัญญานเตือนนำมาก่อนเช่น เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่นหายใจไม่อิ่ม แต่อย่างไรก็ดีการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart attack) อาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest)ได้

ในประเทศไทยจะยังไม่มีการเก็บสถิติการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันว่ามี ความชุกเท่าใด ในอเมริกาพบได้ 325,000 รายต่อปี ซึ่งภาวะนี้พบได้ในผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และโรคอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา (Hypertrophic cardiomyopathy) โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนแรง (Dilated cardiomyopathy) ผู้ที่มีประวัติของการเสียชีวิตกระทันหันในครอบครัว ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ ความผิดปกติแต่กำเนิดของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries) ซึ่งเป็นโรคหัวใจแฝงในบางครั้งไม่แสดงอาการและดูภายนอกเหมือนปกติคนทั่วไป

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันทีโดยผู้ที่เห็นเหตุการณ์ซึ่งหน้าจะต้องมีความรู้เรื่องการกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) เพื่อทำให้เลือดนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ และรู้จักการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (AED) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ ซึ่งถ้ามีการใช้อย่างถูกต้องภายใน 3 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 70% และผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นโดยไม่มีความพิการทางสมองหลงเหลืออยู่ แต่ถ้าปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปโอกาสรอดชีวิตจะลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกๆ 1 นาที เนื่องจากอวัยวะต่างๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงนานเกินไป
การรักษาต้องรักษาที่สาเหตุ เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิด ST elevation จะต้องได้รับการรักษาทันที ด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดหรือการสวนหัวใจ เพื่อเปิดหลอดเลือด ซึ่งมีระยะเวลาที่เป็นนาทีทอง (golden period) 120 นาที ในการเปิดหลอดเลือดหัวใจ ในผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันบางรายที่มีข้อบ่งชี้แพทย์อาจพิจารณาฝังเครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติไว้ในร่างกายเพื่อกระตุกหัวใจ เมื่อมีการทำงานผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจซึ่งสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตกระทันหัน จากภาวะหัวใจหยุเต้นเฉียบพลันได้

ในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินโดยติดต่อหมายเลข 1669 เพื่อนำส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเบื้องต้นและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

Exit mobile version