ภายหลังนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ว่า พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. กู้เงิน COVID-19 ฉบับที่ 2) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ (วันที่ 25 พฤษภาคม 2564) โดย พ.ร.ก. ดังกล่าว ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกรอบวงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2565 ได้สร้างความฮือฮาและข้อสังเกตุกับหลายๆ คนถึงกระบวนการทำงานดังกล่าว ว่าการกู้ดังกล่าวจะมีกระบวนการในการทำงานอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน และในวันเดียวกันผู้ที่มีบทบาทกับเรื่องนี้อีกคนก็ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงกรอบวงเงินดังกล่าว ว่ากรอบการทำงานดังกล่าว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่ผสมผสานทั้งระยะสั้น และระยะยาวเพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ซึ่งเรื่องนี้ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้ออกมาเปิดเผย
วันนี้เพื่อไม่ให้งงและสงสัยว่า กระทรวงการคลังและ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะมีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีค่า นิวส์ จึงจะพาทุกๆ คนไปย้อนดูว่า สำนักงานนี้คือหน่วยงานไหนและมีความเกี่ยวข้องอย่างไรในการบริหารจัดการวงเงินดังกล่าว
ก่อนอื่นเราไปรู้จักกับ ความเป็นมาของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะก่อน
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 โดยในระยะแรกมีสถานะเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนจะได้รับการยกระดับเป็นส่วนราชการในระดับกรม สังกัดกระทรวงการคลัง โดยสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 โดยได้รวมงานของ 2 หน่วยงานเข้าด้วยดัน ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในส่วนของกองนโยบายเงินกู้ กองนโยบายเงินกู้ตลาดทุน กองโครงการลงทุนเพื่อสังคม และศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษา และกรมบัญชีกลาง ในส่วนงานหนี้สาธารณะและเงินคงคลัง และกลุ่มวิเคราะห์หนี้สาธารณะและเงินคงคลัง
การรวมงานของ 2 หน่วยงานข้างต้นเข้าไว้ด้วยกัน ก็เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะของประเทศไทย โดยให้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารจัดการหนี้ของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเพียงหน่วยงานเดียว โดย สบน. จะเป็นผู้กำหนดนโยบายการบริหารหนี้ของประเทศในภาพรวม ดูแลและบริหารความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะ ซึ่งรวมถึงภาระการค้ำประกันและการผูกพันต่างๆ ของรัฐบาล ดำเนินการก่อหนี้ บริหารหนี้ และบริหารการชำระหนี้ของรัฐบาล ตลอดจนการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศด้านหนี้สาธารณะของประเทศ
โดยการทำงานดังกล่าวจะทำงานภายใต้วิสัยทัศน์บริหารหนี้สาธารณะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศ อย่างมั่นคง และยั่งยืน เพื่อให้ตอบโจทย์พันธกิจบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังและการพัฒนาเศรษฐกิจ
และการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์และพันธกิจดังกล่าว เมื่อ มีค่า นิวส์ ได้สืบค้นข้อมูลของกระบวนการทำงานพบว่า ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ได้แบ่งยุทธศาสตร์ในการทำงานไว้ 5 ยุทธศาสตร์และเป็นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึง 2564 แบ่งออกเป็น
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 บริหารหนี้สาธารณะให้มีต้นทุนที่เหมาะสม ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนด
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้เป็นศูนย์กลาง ตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชีย
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารจัดการและติดตามประเมินผลโครงการเงินกู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาบุคลากร ระบบการบริหารจัดการ ระบบข้อมูล และเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมองค์กรสู่ความเป็นเลิศ
- และสุดท้าย ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่ ปรึกษาขยายโอกาสไปสู่ระดับอาเซียน
ซึ่งกระบวนการทำงานดังกล่าว ภายใต้ยุทธศาสตร์และพันธกิจของหน่วยงานที่กำหนดไว้คือการสรุปง่ายๆเพื่อให้เข้าใจได้นั่นก็คือหน่วยงานที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน และเพื่อตอกย้ำให้ชัดว่า หนี้สาธารณะในที่นี้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ อธิบายไว้เกี่ยวโยงกับเรื่องอะไร วันนี้ มีค่า นิวส์ จะพาทุกๆ คนย้อนไปค้นหาคำตอบจากหน้าเว็บไซต์ที่อธิบายเรื่องนี้ โดยพบว่า
หนี้สาธารณะ หมายถึง การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเมื่อรัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนา นั่นเอง
และทีนี้เมื่อเราได้รู้ว่า หนี้สาธารณะที่ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหนและมีกระบวนการอย่างไร สำหรับการบริหารจัดการ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาผสมผสานในการบริหารจัดการเพื่อให้ตอบโจทย์ระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ได้วงเงินกู้ที่ครบถ้วนภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยจากการย้อนดูข้อมูลสำหรับการบริหารและการจัดการหนี้ ภายใต้ พ.ร.ก. covid-19 เรื่องนี้ นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าวที่นำมาใช้ในการบริหารจัดสถานการณ์ดังกล่าว ประกอบไปด้วย ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญากู้เงิน พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรอมทรัพย์ อีกทั้งได้คำนึงถึงแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้จากระยะสั้นเป็นระยะปานกลาง และระยะยาว โดยใช้พันธบัตรรัฐบาล และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ความต้องการของนักลงทุน นั่นเอง ซึ่งพอมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ เชื่อว่า ตอนนี้หลายๆ คนน่าจะเริ่มมองภาพออกแล้วว่า การบริหารจัดการหนี้ดังกล่าวที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเลือกใช้มีวิธีการในการทำอย่างไรบ้าง และมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ อยากจะชวนทุกๆ คนลองวิเคราะห์กันดูว่า วิธีการและนโยบายต่างๆ ที่ออกมาภายใต้คำมั่นสัญญาที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะพยายามเน้นย้ำว่า ดำเนินการอย่างรอบคอบ ครบถ้วน และถูกต้องตามกฎหมาย แต่ละคนคิดเห็นอย่างไรบ้าง และในตอนต่อไป มีค่า นิวส์ จะพาย้อนไปดูตัวเลขเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตัวเลขในการบริหารจัดการหนี้สาธารณะในเครื่องมือดังกล่าว มีข้อมูลอย่างไรที่น่าสนใจและ เราได้สิทธิ์จากกรอบวงเงินดังกล่าวหรือไม่
ที่มา : https://www.pdmo.go.th/th/about-us/vision