กว่า 7 ปีที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้เร่งดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจทุกระดับ ผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพไทย โดยเฉพาะการเร่งสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมวิสาหกิจใหม่ หรือสตาร์ทอัพ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตแข็งแรงดีให้มีเครือข่ายเชื่อมโยงตลาด และให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ อันเป็นการติดปีกให้สตาร์ทอัพไทยให้แข็งแรงและเติบโตอย่างก้าวกระโดดเพราะธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนธุรกิจที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีโอกาสที่จะกลายเป็นฟันเฟืองหลักทางเศรษฐกิจตัวใหม่เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศสำหรับเศรษฐกิจในยุคถัดไป หรือ Next Normal
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ดีพร้อมได้เดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจไทย หรือ สตาร์ทอัพ ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่าอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ทอัพ คือปัญหาด้านต้นทุนของธุรกิจ ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจ และต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้ดำเนินกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2564 ผ่านโครงการ Delta Angel Fund ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก บริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้น (Early Stage) จนมีเครือข่ายสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 500 ราย ซึ่งในจำนวนนี้จะมีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและคุณภาพที่ได้รับเงินทุนเริ่มต้นแบบให้เปล่าแล้วกว่า 100 ราย อีกทั้ง ยังได้มีโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมธุรกิจแบบครบวงจร”
สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาให้สตาร์ทอัพไทยแข็งแรงและเติบโตอย่างก้าวกระโดดนั้นดีพร้อมได้ดำเนินการส่งเสริมและสร้างสมรรถภาพผู้ประกอบการภายใต้แนวคิดการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด หรือ สปริง (SPRING) ที่มุ่งเน้นการสร้างมาตรฐาน (Standard) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) การศึกษาค้นคว้าวิจัย (Research) การสร้างนวัตกรรม (Innovation) การสร้างและขยายเครือข่าย (Network) ให้สตาร์ทอัพได้ก้าวเดินได้อย่างแข็งแรงจนก้าวเข้าสู่ระยะเติบโต (Growth Stage) และ “ดีพร้อม” ยังได้มุ่งเน้นในการขยายผลและยกระดับกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพในระยะเติบโตนี้ให้เหมาะสมและแข็งแรง โดยในปี 2564 มีสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพเข้าร่วมโครงการและกำลังบ่มเพาะอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 75 ราย ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มระยะเริ่มต้นจำนวน 50 ราย และกลุ่มระยะเติบโตจำนวน 25 ราย
โดยกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย ดีพร้อม ได้ใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาดในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพเพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ และสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ สร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ การขยายเครือข่ายตลาด โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเครือข่ายนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยและการขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการสนับสนุนเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท
ทั้งนี้ ดีพร้อม มีนโยบายที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกระยะของการดำเนินธุรกิจตั้งแต่ผู้ประกอบการที่มี่แนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมแต่ยังขาดองค์ความรู้ หรือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต้องการความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายพิเศษเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ภาพอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและความพร้อมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยโดยตั้งเป้าว่าหลังจากพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพเพิ่มเติมได้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มได้อีกเท่าตัว และมีความมั่นคงในเชิงของการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสูงขึ้นอีกด้วย
“สำหรับผู้ประกอบการระยะเติบโต (Growth stage) ประเภทวิสาหกิจเริ่มต้นที่จดทะเบียนพาณิชย์ ตามกฎหมายไทย มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ (Exponential growth) รวมถึงสตาร์ทอัพในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกและมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน มีโอกาสในการเติบโตในเศรษฐกิจยุคถัดไป หรือ Next Normal ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าฝันที่อยากจะเป็นเถ้าแก่จากการเริ่มต้นทำธุรกิจให้เติบโตก้าวไปสู่ระดับโลก ดังเช่นบริษัทที่มีชื่อเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple Amazon Facebook หรือ Tesla เป็นต้น โดย “ดีพร้อม” ยังได้สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้สตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะจนมีศักยภาพได้เจอกับนักลงทุน (Venture Capital) ที่สนใจร่วมลงทุนกับสิ่งประดิษฐ์หรือเทคโนโลยีของสตาร์อัพที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจและความต้องการของตลาด เพื่อสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มและต่อยอดกลายเป็นธุรกิจใหม่ได้จริงโดยในปี 2563 มีสตาร์ทอัพที่ผ่านการบ่มเพาะจาก “ดีพร้อม” จำนวน 6 ราย ได้นำเสนอ โมเดลธุรกิจ และมีนักลงทุนได้ร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท และสำหรับในปี 2564 มีจำนวนสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจจำนวน 25 ราย” นายณัฐพล กล่าวเสริม
ไม่เพียงเท่านี้ “ดีพร้อม” ยังได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสตาร์ทอัพและหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์เอสเอ็มอี สถาบันเครือข่าย สมาคมธุรกิจภาคเอกชน รวมไปถึงเครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของ “ดีพร้อม” กว่า 200,000 ราย ในการร่วมสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจภาคเอกชนที่ต้องการส่งเสริม และลงทุนในสตาร์ทอัพ เข้ามาร่วมในเครือข่ายนักลงทุนกับ “ดีพร้อม” อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน นอกจากบริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด ที่มาร่วมมือกับ “ดีพร้อม” แล้ว ยังมีบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายรายที่ให้ความสนใจ รวมทั้งสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยฯ ที่พร้อมมาร่วมเป็นเครือข่ายในการส่งเสริมสตาร์ทอัพกับ “ดีพร้อม
“จุดเด่นที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย คือ ศักยภาพในด้านความคิดสร้างสรรค์ หากทุกท่านได้รับการบ่มเพาะเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดและช่วยเสริมศักยภาพให้กับภาคเศรษฐกิจได้อย่างดีพร้อมโดย “ดีพร้อม” พร้อมจะสานต่อความฝันของท่านให้สามารถก้าวสู่สมรภูมิทางธุรกิจในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะเราเชื่อว่าทุกๆ การเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจ คือ โอกาสสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย