Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ!ตอน 2 หนี้สาธารณะ มีนาคม 64 ใช้แบบไหนบ้าง

รายงานพิเศษ!ตอน 2 หนี้สาธารณะ มีนาคม 64 ใช้แบบไหนบ้าง
“หนี้สาธารณะ” กลายเป็นอีกหนึ่งคำที่ล่าสุด การเสพข่าวการติดตามกระบวนการทำงานของภาครัฐได้กลับมาพูดถึงในแวดวงสังคมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะตัวเลขและความจำเป็นของการกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ในการบริหาร และก่อนหน้า มีค่า นิวส์ เคยพาทุกๆ คนไปดูกันแล้วว่า กระบวนการทำงานของหนี้สาธารณะมีหน่วยงานไหนที่ต้องรับผิดชอบ และเมื่อได้เงินมาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ในประเทศไทยจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้การทำงานตอบโจทย์และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

แต่แน่นอนว่าที่ผ่านมา มีค่า นิวส์ ก็ต้องยอมรับเองด้วยว่า เราก็ไม่ค่อยได้สนใจหรือใส่ใจนักว่า เงินกู้ดังกล่าว กับการบริหารจัดการหนี้ภายหลังจากที่กู้แล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะนำเงินดังกล่าวไปบริหารจัดการอย่างไร วันนี้เราเลยลองไปเสิร์ชข้อมูลเพื่อดูว่า ก่อนหน้าที่จะมีการกู้เงินมาหรือการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้ประชาชน เราในฐานะคนไทยได้ใช้สวัสดิการหรือมีความเกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ไปเจอข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นข้อมูลที่เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้อัพเดทไว้เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ได้สรุปสถานะหนี้สาธารณะไว้ ดังต่อไปนี้

สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 53.32 ของ GDP โดยแบ่งเป็นหนี้รัฐบาล 7,380,114.92 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 799,090.17 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 285,357.53 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,624.36 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. หนี้รัฐบาล จำนวน 7,380,114.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 52,818.72 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
    • เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพิ่มขึ้น 26,000 ล้านบาท
    • หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มขึ้น 30,605 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้าจากการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้าสำหรับพันธบัตรรัฐบาล (LB256A) ที่จะครบกำหนดชำระวันที่ 17 กรกฎาคม 2564
    • เงินกู้สกุลต่างประเทศ เพิ่มขึ้นสุทธิ 9,698.46 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่าย
    • เงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จำนวน 9,260.98 ล้านบาท และการเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อสกุลเงินเยน สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 491.80 ล้านบาท ขณะที่มีการลดลงของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 45.85 ล้านบาท
    • เงินกู้ในประเทศเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เพิ่มขึ้นสุทธิ 5,462 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น (1) การเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในภูมิภาคและรถไฟความเร็วสูง จำนวน 4,381.70 ล้านบาท และ (2) การเบิกจ่ายเงินกู้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายสีเขียวสายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน) จำนวน 1,080.30 ล้านบาท
    • หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 18,946.74 ล้านบาท จากการไถ่ถอนพันธบัตรที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ
  2. หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 799,090.17 ล้านบาท ลดลงสุทธิ 2,627.76 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก
    • หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 1,686.82 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการเบิกจ่ายเงินกู้ของ รฟท. จำนวน 2,285.53 ล้านบาท ขณะที่มีการชำระคืนหนี้เงินกู้สกุลเงินเยนของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 550.09 ล้านบาท
    • หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ลดลงสุทธิ 4,314.58 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการชำระคืนหนี้เงินกู้ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,353 ล้านบาท และการลดลงสุทธิของหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 1,430 ล้านบาท ขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 379.60 ล้านบาท
  3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จินวน 285,357.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.28 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้จากผลของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
  4. หนี้หน่วยงานของรัฐ จำนวน 7,624.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 37.48 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก
    • หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพิ่มขึ้นสุทธิ 37.48 ลัานบาท จากเดือนก่อนหน้าจากการเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน 86.09 ล้านบาท ขณะที่มีการชำระคืนหนี้เงินกู้ของสำนักงานธนานุเคราะห์ จำนวน 31.25 ล้านบาท และการลดลงสุทธิของหนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 9.37 ล้านบาท
    • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 8,472,186.98 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ ร้อยละ 98.21 และหนี้ต่างประเทศ ร้อยละ 1.79 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และเมื่อแบ่งตามอายุคงเหลือ สามารถแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว ร้อยละ 85.15 และหนี้ระยะสั้น ร้อยละ 14.85 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

ดังนั้นเมื่อเราค้นข้อมูลทำให้เรารับรู้ว่า หนี้สาธารณจะกระจายการทำงานออกไปเป็น หนี้รัฐบาล หนี้รัฐวิสาหกิจ หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เป็นต้น ส่วนเรื่องความคุ้มค่าหรือสวัสดิการต่างๆที่เราควรได้รับจากการบริหารจัดการเงินในครั้งนี้ก็คงเป็นความรู้สึกของแต่ละคนที่มองเข้ามา ส่วนมีค่า นิวส์ก็คงทำหน้าที่ได้แค่เพียง การรวบรวมข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่ มานำเสนอ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพการทำงานให้มากขึ้นเท่านั้น

ที่มา : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

รายงานพิเศษ! ตอน 1 ใครบริหารและจัดการหนี้สาธารณะ
https://mekhanews.com/2021/05/26/who-manages-public-debt/?fbclid=IwAR3zH1D2BubbJYyNT4JeYA4S49yhEVm-6QT4Lt57riIxO_lWmB5Iz0fU6dU

Exit mobile version