หลายคนคงสงสัยเหมือน มีค่า นิวส์ ว่าหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด 19 ในโรงงานแปรรูปไก่ ที่ จ.สระบุรี และพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 391 คน (ข้อมูลวันที่ 30 พ.ค.) จากจำนวนพนักงานทั้งหมด 5,862 คน
แล้ว อย่างนี้ เนื้อไก่ ยังจะกินได้อยู่หรือไม่ ?
กินแล้ว เสี่ยงติดเชื้อ โควิด 19 หรือไม่?
เรื่องนี้ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า สามารถ “กินได้” ไม่ต้องตื่นตระหนก โดยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า
- ที่ผ่านมา ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก
ยังไม่พบหลักฐาน ที่แสดงว่า กระบวนการปรุงประกอบทําให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 - ส่วนข้อมูลของ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความเสี่ยงจากการติดเชื้อผ่านทางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารนั้นมีค่อนข้างต่ำ
- แม้ว่าจะมีรายงานพบผู้ป่วยจากโรงงานหรือสถานประกอบการผลิตอาหาร แต่ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่า เชื้อไวรัสผ่านมาถึงผู้บริโภค
- โดยผ่านอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์จากโรงงานที่มีคนงานติดเชื้อ
แต่!! เพื่อเพิ่มความปลอดภัยประชาชนควรปฏิบัติดังนี้
- เลือกซื้อไก่จากแหล่งที่เชื่อถือได้
- ก่อนนำไก่ดิบมาประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาด โดยเฉพาะภายนอกบรรจุภัณฑ์
- ก่อนนำมาเก็บ หรือ เตรียมปรุงเพื่อกำจัดคราบไขมัน สิ่งสกปรกที่ติดมาออกไป ถ้ามีมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาด แล้วจึงนำมาชำแหละเอาส่วนต่างๆออก
- นำมาปรุงสุก โดยใช้ความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที เป็นการทำลายเชื้อโรคต่างๆ รวมถึงเชื้อโควิด-19 ได้
- หากซื้อเนื้อไก่แช่แข็งผ่านทางออนไลน์ ต้องสังเกตบรรจุภาชนะห่อหุ้มด้วยพลาสติกแช่เย็น ป้ายที่บอกวันเดือนปีที่ผลิต และวันเดือนปีที่ควรบริโภค
- สำหรับการเก็บเนื้อไก่ดิบ หากซื้อมาประกอบอาหารแล้ว แต่ใช้ไม่หมด ควรเก็บในอุณหภูมิ 0-5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเก็บได้นาน 3-5 วัน หรือเก็บในช่องแช่เย็นที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 12 เดือน
- ส่วนอาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานกว่า 2 – 4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นร้อนก่อนทุกครั้งในมื้อต่อไป
- ควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อน และหลังปรุง ก่อนกินอาหารและหยิบจับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูก ตา
ที่มา : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข