Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ! ตอนที่ 1 เจาะลึก! ประกันสังคม มาตรา 33-39-40 และความแตกต่าง

ในภาวะที่เราทุกคนเผชิญกับไวรัสโควิด-19 ยาวนานต่อเนื่อง ทำให้บางคนถูกเลิกจ้างงานแบบไม่ทันตั้งตัว หรือ บางคนลาออกมาแล้วเกิดตกงาน จนส่งผลกระทบต่อรายได้ ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนำซ้ำอาจเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน เช่น เจ็บป่วยกระทันหัน ทุพพลภาพ เสียชีวิต / ซึ่งมีค่า นิวส์ พบว่ามีหน่วยงานหนึ่ง ที่จะดูแลเรา ขณะเผชิญกับภาวะดังกล่าวได้     ก็คือ “สำนักงานประกันสังคม” นั่นเอง  โดยจะประกอบไปด้วย 2 กองทุนหลัก ดังนี้

“กองทุนประสังคมสังคม”  คือ กองทุนที่ให้หลักประกันกับเรา หรือ ที่เรียกว่า “ผู้ประกันตน” ให้ได้รับประโยชน์ทดแทน เมื่อต้องประสบอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ซึ่งไม่ได้เกิดจากการทำงาน / นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงานด้วย

“กองทุนเงินทดแทน” คือ กองทุนที่จ่ายเงินทดแทนให้ลูกจ้าง แทนนายจ้าง เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือ สูญเสียสมรรถภาพ หรือ เสียชีวิต สูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้าง

ทั้งนี้ ในรายงานพิเศษครั้งนี้ มีค่า นิวส์ ขอนำเสนอรายละเอียดของ “กองทุนประสังคมสังคม” ก่อนโดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรา มีความแตกต่างกัน ต่อไปนี้

ประกันสังคม มาตรา 33

คุณสมบัติผู้ประกันตน

เป็นพนักงานเอกชนทั่วไป

– มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี

วิธีสมัคร

ไม่ต้องสมัคร นายจ้างจะเป็นผู้ดำเนินการขึ้นทะเบียนให้เรา ภายใน 30 วัน โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่เข้าทำงาน

ขั้นตอนการส่งเงินสมทบ

– นายจ้างหักจากเงินเดือน ร้อยละ 5 ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน
– นายจ้างร่วมจ่ายเงินสมทบอีก ร้อยละ 5
– รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบอีก ร้อยละ 2.75

– สามารถนำเงินที่จ่ายไปยื่นหักลดหย่อนภาษีได้  

สิทธิประโยชน์  

เจ็บป่วย / เสียชีวิต  / ว่างงาน / คลอดบุตร / สงเคราะห์บุตร / ทุพพลภาพ / ชราภาพ

การแจ้งสิ้นสุดสถานภาพ

นายจ้าง จะเป็นคนแจ้งออกจากงานให้ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง

ประกันสังคม มาตรา 39 

คุณสมบัติผู้ประกันตน

เคยเป็นพนักงานเอกชน แล้วลาออก

– เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน
– ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทน กรณีทุพพลภาพ จากกองทุนประกันสังคม

วิธีสมัคร

สมัครด้วยตนเอง ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่อาศัย กรณีให้หักบัญชีธนาคาร ต้องนำสำเนาสมุดบัญชีมาด้วย

ขั้นตอนการส่งเงินสมทบ

– ส่งเงินสมทบเอง เดือนละ 432 บาท (ใช้ฐานคำนวณ เดือนละ 4,800 บาท เท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9%  ผ่านช่องทาง ตามนี้

– หักบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย / ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / ธนาคารไทยพาณิชย์ / ธนาคารกสิกรไทย / ธนาคารกรุงเทพ / ธนาคารทหารไทย / และธนาคารธนชาต

– จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย / ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / และธนาคารธนชาต

– จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส เทสโก้โลตัส เซ็นเพย์ บิ๊กซี และที่ทำไปรษณีย์ด้วยระบบ Pay at Post

– จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด

ซึ่งหลังนำส่งเงินสมทบ ผู้ประกันตน จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ต่อเนื่อง จากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทันที และสามารถนำเงินที่จ่ายไปยื่นหักลดหย่อนภาษีได้   

สิทธิประโยชน์ 

เจ็บป่วย / ตาย / คลอดบุตร / สงเคราะห์บุตร / ทุพพลภาพ / ชราภาพ

การแจ้งสิ้นสุดสถานภาพ

ตาย / กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 / ลาออก / ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน / ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน

ประกันสังคม มาตรา 40

คุณสมบัติผู้ประกันตน

– เป็นบุคคลทั่วไป ที่ประกอบอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ค้าขาย หรือ แรงงานนอกระบบ

– มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 65 ปี

– ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ มาตรา 39

– ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ / ไม่เป็นสมาชิกกองทุนรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่น / ไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

– หากเป็นผู้พิการ ให้ระบุลักษณะหรืออาการโดยละเอียด

วิธีสมัคร

– สำนักงานประกันสังคม และหน่วยบริการเคลื่อนที่

– สมัครผ่านระบบ Internet ที่ www.sso.go.th/section40_regist/

– สมัครผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น หรือ ร้านค้า ที่มีสัญลักษณ์เคาน์เตอร์เซอร์วิสทั่วประเทศ

ขั้นตอนการส่งเงินสมทบ

มี 3 ทางเลือก ประกอบด้วย

1.ส่งเงินสมทบ 70 บาท / เดือน

2.ส่งเงินสมทบ 100 บาท/เดือน

3.ส่งเงินสมทบ 300บาท/เดือน

โดยผ่านช่องทาง ตามนี้

– จ่ายที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด

– หักบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย / ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / ธนาคารไทยพาณิชย์ / ธนาคารกสิกรไทย / ธนาคารกรุงเทพ / ธนาคารทหารไทย / ธนาคารธนชาต / ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร / และธนาคารออมสิน

– จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย / ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

– จ่ายผ่าน เคาน์เตอร์เซอร์วิส เทสโก้โลตัส เซ็นเพย์ บิ๊กซี และตู้บุญเติม

สิทธิประโยชน์ 

แยกตามการส่งเงินสมทบ 3 ทางเลือก

1.แบบ 70 บาท คุ้มครอง เจ็บป่วย / ทุพพลภาพ / เสียชีวิต

2.แบบ100 บาท คุ้มครอง เจ็บป่วย / ทุพพลภาพ / เสียชีวิต / ชราภาพ

3.แบบ 300 บาท คุ้มครอง เจ็บป่วย / ทุพพลภาพ / เสียชีวิต / ชราภาพ / สงเคราะห์บุตร

การแจ้งสิ้นสุดสถานภาพ

ไม่ได้ระบุ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ มีค่า นิวส์ หวังว่าทุกคนจะมองภาพรวมความแตกต่าง ของ 3 มาตราดังกล่าว ในกองทุนประกันสังคม ได้เข้าใจมากขึ้น / และในตอนต่อไป มีค่า นิวส์ จะพาไปส่อง สิทธิประโยชน์ของทั้ง 3 มาตรานี้อย่างละเอียด เพื่อที่ทุกคน จะได้รักษาสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับของตัวเอง  รอติดตามกันนะคะ  

ที่มา : สำนักงานประกันสังคม

Exit mobile version