Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

เปิดวิธี! ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือ กรณีแพ้วัคซีนโควิด-19

มีค่า นิวส์ มีข่าวดีมาฝาก! สำหรับใครที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น มีอาการชา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย จนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมไปถึงขั้นทุพพลภาพถาวร เสียชีวิต สามารถขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช.ได้แล้ว! โดยเปิดให้ยื่นคำร้องได้ ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่เกิดอาการ

อัตราการจ่ายช่วยเหลือเบื้องต้น

1.เสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร (ไม่เกิน 4 แสนบาท)

2.เสียอวัยวะ พิการ (ไม่เกิน 24 แสนบาท)

3.บาดเจ็บ บาดเจ็บต่อเนื่อง ชา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย นอนโรงพยาบาล (ไม่เกิน 1 แสนบาท)

ผู้ใช้สิทธิอะไร ถึงจะยื่นคำร้องได้

– ผู้ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

– ผู้ที่ใช้สิทธิประกันสังคม หรือ สวัสดิการข้าราชการ

คนยื่นคำร้อง จะเป็นใครได้บ้าง

– ตัวผู้รับบริการเอง หรือ ทายาท เป็นผู้ยื่นคำร้อง

– กรณีไม่มีทายาท ผู้อุปการะที่ดูแล หรือ หน่วยบริการสามารถยื่นคำร้องแทนได้

ใช้เอกสารอะไรบ้าง

– สำเนาบัตรประชาชน

– สำเนาใบมรณบัตรของผู้รับบริการ กรณีที่เสียชีวิต

– ใบความเห็นแพทย์ผู้ให้การรักษา และใบการลาหยุดพักงาน

ยื่นได้ที่ไหนบ้าง

– โรงพยาบาลที่ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19

– สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

– สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 13 เขตทั่วประเทศ

กระบวนการพิจารณา

1.ยื่นคำร้อง

2.คณะอนุกรรมการฯ ภายใต้ สปสช.พิจารณาคำร้อง

3.ลงมติเห็นชอบว่าจะจ่ายเงินช่วยเหลือหรือไม่ จำนวนเท่าใด

4.ในกรณีที่จ่าย สปสช.จะโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วัน หลังจากคระกรมการมีมติเห็นชอบ

ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มเปิดให้ยื่นคำร้องมา 4 สัปดาห์ ข้อมูล ณ วันที่ 11 มิ.ย. 2564 มีผู้ยื่นคำร้องขอรับการเยียวยาทั่วประเทศ 519 ราย คณะอนุกรรมการของแต่ละเขต ได้พิจารณาจ่ายให้ 395 ราย รวมเป็นเงิน 7.5 ล้านบาท

สำหรับการช่วยเหลือนี้ เป็นเพียงระดับเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ก็จะได้รับการดูแล และจะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด แม้ภายหลังจะพิสูจน์ว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากวัคซีนก็ตาม

หากใครมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ สายด่วน สปสช. โทร. 1330

ที่มา : https://www.nhso.go.th/news/3126

Exit mobile version