หลังจากนายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้าโรดแมป “ประเทศไทยต้องเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน” มีค่า นิวส์ ขอพาทุกคนมาส่องความเชื่อมั่นของคนไทย ที่มีต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท.สำรวจไว้ ช่วงวันที่ 2 – 6 มิ.ย. 2564 จากประชาชนทั้งหมด 1,037 ราย แบ่งหัวข้อ ดังนี้
1.ความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวในประเทศ จำนวน 100 ตัวอย่าง ผลสำรวจพบว่า
คนไทย ร้อยละ 65.94 มีความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ แบ่งเป็น
– ร้อยละ 32.42 มีความมั่นใจต่อมาตรการการควบคุมโควิด-19 ทำให้รู้สึกปลอดภัย
– ร้อยละ 18.26 มองว่าสามารถท่องเที่ยวได้ แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม และการเดินทางสะดวก
– ร้อยละ 15.07 ระบุว่า มีวัคซีนป้องกันแล้ว และสามารถดูแลตัวเองได้ หรือ เลี่ยงไปสถานที่ที่มีการแพร่ระบาด
แต่ยังมีคนไทย ร้อยละ 34.06 ที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวภายในประเทศ
เหตุผลส่วนใหญ่ เพราะยังกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 เช่น การพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 เป็นจำนวนมาก / ไม่สามารถควบคุมโรคได้ในบางพื้นที่ / มาตรการการป้องกันยังไม่เข้มงวดพอ / รวมถึงไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง
2.ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่น จำนวน 83.02 ตัวอย่าง ผลสำรวจพบว่า
– ร้อยละ 22.78 ให้ความสำคัญกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ลดความรุนแรงลง / ควบคุมได้ดีขึ้น
– ร้อยละ 17.12 ความเข้มงวดของมาตรการการป้องกันโควิด-19 ระหว่างเดินทาง
– ร้อยละ 16.20 สถานะทางการเงินในปัจจุบัน
– ร้อยละ 26.92 ความเข้มงวดของมาตรการป้องกันโควิด-19 ของจังหวัดที่จะเดินไป และฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
3.แนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จำนวน 99.98 ตัวอย่าง ผลสำรวจพบว่า
– ร้อยละ 49.48 ยังมีความต้องการเดินทางไปท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 4 (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม) ซึ่งเป็นฤดูการท่องเที่ยวในสถานการณ์ปกติ ประเมินได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่น่าจะมีผลกระทบ ทำให้ฤดูการท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแต่อย่างใด
ส่วนปัจจัยที่จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ตัดสินใจท่องเที่ยวได้เร็วขึ้นมากเป็นอันดับแรก คือ โปรโมชั่นส่วนลดค่าที่พัก รองลงมาเป็นการกระตุ้นจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน ทัวร์เที่ยวไทย และโปรโมชั่นส่วนลดค่าเดินทาง เช่น ตั๋วเครื่องบิน รถเช่า
– ร้อยละ 50.52 กลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว ภายในปีนี้ เนื่องด้วยเหตุผล คือ ไม่อยากเผชิญความเสี่ยงในการติดโควิด-19 รองลงมา คือ สถานะทางการเงินยังไม่พร้อม ต้องการประหยัด ซึ่งเป็นผลกระทบทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลรายได้ที่ลดลงของคนไทย
4.พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยว
ภาพรวมส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.47 ยังเป็นการเดินทางข้ามภูมิภาค มีลักษณะการท่องเที่ยวแบบ “พักค้างคืน” มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 86.21 มีจำนวนวันท่องเที่ยวเฉลี่ย 3.04 วัน เลือกเดินทางในช่วงวันหยุดปกติ (ส.-อา.) ร้อยละ 48.87 วันธรรมดา (จ.-ศ.) ร้อยละ 40.76 และวันหยุดนักขัตฤกษ์/วันหยุดพิเศษ ร้อยละ 10.37 การจัดการเดินทางยังเป็นการเดินทางร่วมกับ “ครอบครัว/ญาติ” พาหนะหลักที่ใช้ในการเดินทาง จะพบว่า ร้อยละ 69.69 ใช้ “รถยนต์ส่วนตัว” ซึ่งอาจเกิดจากความกังวลในการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ทั้งนี้จังหวัดยอดนิยมในการเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ เชียงใหม่ กระบี่ ภูเก็ต กาญจนบุรี ชลบุรี ตามลำดับ
5.ทัศนคติต่อการท่องเที่ยว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19
กว่า 2 ใน 3 เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวในเมืองใหญ่ ที่มีผู้คนหนาแน่น และเลือกไปจังหวัดที่มีการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี นอกจากนั้น เกินกว่าครึ่ง เลือกที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น และยังคำนึงถึงระยะห่างทางสังคม (social distancing) ที่เป็นปัจจัยในการเลือกทำกิจกรรมท่องเที่ยว ในขณะที่มีอีกกลุ่มหนึ่ง มองว่า การท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสของการท่องเที่ยวในราคาพิเศษ