Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : ภัยเงียบ “Binge Eating Disorder” โรคกิน…แล้วหยุดไม่ได้

หากเอ่ยชื่อโรค “Binge Eating Disorder”  หรือ โรคกินไม่หยุด หลายคนคงสงสัยและอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนว่ามีโรคแบบนี้ด้วยหรือ แล้วจริงๆ มันคือโรคอะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร อาการเป็นอย่างไร อันตรายหรือไม่ มีค่า นิวส์ ขอพาทุกคนมาหาคำตอบ  

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ศรัณยู วินัยพานิช หรือ ที่รู้จักกันในวงการบันเทิง “ไอซ์ ศรัณยู” ออกมาเปิดเผยผ่านช่องยูทูบ  ICE SARUNYU OFFICIAL  บอกว่า ตัวเองป่วยเป็นโรคกินไม่หยุด หรือ “Binge Eating Disorder”  (บิ้นจ์-อีทติ้ง) มานานหลายปี  

พร้อมเปิดใจเล่าถึงอาการ เริ่มจากไม่สามารถควบคุมการกินของตัวเองได้ , กินแม้กระทั่งเวลาไม่หิว ต่อให้เป็นอาหารที่ไม่อยากกิน วางอยู่ใกล้มือ ก็พร้อมที่จะหยิบเอาเข้าปาก แถมยังกินได้ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าอิ่ม กินจนของหมด ขณะกินจะมีความสุขมาก แต่พอผ่านไป 5 – 10 นาที จะรู้สึกผิดอย่างมาก จนเกิดความเศร้า

จากนั้นก็เริ่มปฎิเสธการกินร่วมกับคนในสังคม ชอบแยกตัวกินคนเดียว ซ่อนอาหารไว้ นำออกมากินตอนที่ไม่มีคนอยู่ ต่อมาเกิดโรคไขมันในเส้นเลือดสูง และไขมันพอกตับ เลยตัดสินใจไปพบแพทย์ จึงทราบว่าเป็นโรค “Binge Eating Disorder”  (บิ้นจ์-อีทติ้ง) และเข้าสู่การรักษา

 “Binge Eating Disorder”  คือโรคอะไร?

“Binge Eating Disorder”  เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคการกินผิดปกติ หรือ เรียกง่ายๆว่า โรคกินไม่หยุด ซึ่งมี โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) และโรคบูลิเมีย (Bulimia Nervosa) อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่ “Binge Eating Disorder”  จะไม่มีอาการชดเชยการกินเยอะ เช่น ล้วงคอให้อาเจียน กินยาถ่าย ออกกำลังกายอย่างหักโหม พบได้ประมาณ 1-3% พบบ่อยในช่วงอายุ 12-25 ปี และเพศหญิง จะมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย 1.5-6 เท่า

สาเหตุของโรค “Binge Eating Disorder” เกิดจากอะไร?

ในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคกินไม่หยุด เช่น

สำหรับสาเหตุ ที่ทำให้เกิดอาการรับประทานอาหารมากผิดปกติ เชื่อกันว่า เกิดจากภาวะไม่สมดุลของสารเคมีในสมองอย่างเลปติน (Leptin) และเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความหิว ที่หลั่งออกมามากผิดปกติ จนส่งผลให้ร่างกาย มีความอยากอาหาร นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าความรู้สึกเครียด โกรธ เศร้า เบื่อหน่าย หรือความรู้สึกด้านลบก็สามารถกระตุ้นการหลั่งของสารเหล่านี้ได้

อาการอย่างไร?  ถึงเรียกว่าป่วยโรค “Binge Eating Disorder” 

  1. รู้สึกละอาย หรือ รังเกียจตัวเอง หลังจากกินอาหารปริมาณมาก
  2. มีอารมณ์ซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล
  3. กินอาหารมาก จนถึงจุดที่ไม่สบายตัว หรือ รู้สึกทรมาน
  4. กินอาหารต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่อาจหยุดได้
  5. มีความรู้สึกที่ไม่อาจควบคุมการกินอาหารได้
  6. ชอบกินอาหารในช่วงกลางดึก
  7. มีการซ่อนอาหารไว้รอบบ้าน เพื่อเตรียมตัวที่จะกินได้ทุกที่ทุกเวลา
  8. น้ำหนักตัวขึ้นลงไม่คงที่
  9. มีความลำบากใจ และ พยายามหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์
  10. มีลักษณะของความมั่นใจที่ลดลงผิดปกติ

เมื่อมีอาการข้างต้น ควรไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรค

แพทย์จะสอบถามพฤติกรรมการกิน อย่างปริมาณอาหาร ความถี่ในการรับประทาน รวมทั้งโรคประจำตัว ซึ่งหากตรงตามเกณฑ์ของโรค หรือ มีการรับประทานอาหารในปริมาณมาก อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องกัน 3 เดือน แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น “Binge Eating Disorder”  นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และตรวจการนอนหลับ เพื่อหาโรคแทรกซ้อนจากโรคกินไม่หยุด และช่วยวางแผนรักษา

ภาวะแทรกซ้อนของโรค “Binge Eating Disorder” มีอะไรบ้าง

ปัญหาสุขภาพกาย
การได้รับสารอาหารและพลังงานมากเกินความจำเป็น อาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ / โรคกรดไหลย้อน / ภาวะไขมันในเลือดสูง / โรคอ้วน / โรคเบาหวาน / โรคหัวใจ / โรคหลอดเลือดสมอง / และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ปัญหาสุขภาพจิต
ความรู้สึกด้านลบจากอาการของโรค อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก ไม่อยากเข้าสังคม ซึ่งเมื่ออารมณ์เหล่านี้รุนแรงขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้สารเสพติด หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลามไปจนถึงภาวะทางจิตชนิดอื่น ๆ อย่างภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคไบโพลาร์

ปัญหาในชีวิตประจำวัน
การรับประทานอาหารทีละมาก ๆ อาจส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในตนเอง รวมไปถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

การรักษาโรค “Binge Eating Disorder” มีขั้นตอนอย่างไร?

ภายหลังจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวต่อไปยังแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านโรค โดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์อาจเลือกวิธีการรักษาที่สอดคล้องกับอาการ และสาเหตุของโรคมากที่สุด ดังนี้

การใช้ยา

โรคกินไม่หยุดจัดว่าเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาต้านเศร้า หรือ ยากันชัก ที่มักใช้รักษาโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมอง และป้องกันอาการของโรค การใช้ยาเพื่อรักษาค่อนข้างให้ผลรวดเร็ว และได้ผลที่ชัดเจนกว่าการรักษาแบบอื่น แต่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงนี้ และควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การเข้ารับจิตบำบัด

Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นการบำบัด ที่จะสอนให้ผู้ป่วยเข้าใจสาเหตุของอารมณ์และพฤติกรรมด้านลบ ที่ทำให้เกิดอาการ รวมทั้งเรียนรู้วิธีควบคุม เพื่อลดความรุนแรงของความรู้สึกและพฤติกรรม

Interpersonal Psychotherapy (IPT) เป็นการบำบัดที่ช่วยรักษาอาการที่มีสาเหตุมาจากปัญหาความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก หรือ ครอบครัวอย่างความรุนแรง การหย่าร้าง หรือการเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้ป่วย และทำให้เกิดโรคกินไม่หยุด เป็นการแก้ไขและเปลี่ยนมุมมอง

Dialectical Behavior Therapy (DBT) เป็นการบำบัดที่สร้าง 4 ทักษะ คือ การตระหนักรู้ในสาเหตุและอาการ /ความอดทนต่อความรู้สึกด้านลบ / การจัดการอารมณ์ / การพัฒนามนุษยสัมพันธ์

การลดน้ำหนัก

กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ มีโรคอ้วนเป็นโรคประจำตัว อีกทั้งจากการศึกษายังพบว่า ผู้ที่เคยล้มเหลวในการลดความอ้วนมีความเสี่ยงที่เป็นโรคกินไม่หยุด  ซึ่งแพทย์อาจแนะนำวิธีลดน้ำหนัก ภายหลังจากการรักษาโรค แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปมีอาการอีก เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง ทั้งปริมาณ สารอาหาร และการออกกำลังกาย

ทำยังไงไม่ให้เป็น โรคกินไม่หยุด “Binge Eating Disorder”

– นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

– ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

– ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายความเครียดหรือความรู้สึกด้านลบอื่น ๆ

– เข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้การจัดกับอารมณ์

– ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดสัญญาณของโรค

สำหรับโรคกินไม่หยุด เป็นโรคที่ถ้าใครเป็นแล้ว ต้องใช้ความอดทนและความมีวินัยในการรักษาอย่างมาก แต่ก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ป่วยโรคนี้ต้องการ  และมีค่า นิวส์ มองว่าสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง ที่จะทำให้การรักษาประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น 

ที่มา :    ICE SARUNYU OFFICIAL   https://youtu.be/p0xmWueQkVQ

กรมสุขภาพจิต

นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

https://www.pobpad.com/binge-eating-disorder

Exit mobile version