Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : bubble and seal มาตรการเชิงรุก คุมแพร่เชื้อโควิด

ตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด เราจะได้ยินคำว่ามาตรการ “bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล) บ่อยขึ้น เนื่องจากมีหน่วยงานต่างๆ นำมาใช้ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ผลหลายพื้นที่ โดยหลายคนอาจจะสงสัยว่ามาตรการ “bubble and seal” คืออะไร  มีหลักการคุมเชื้อโควิด-19 อย่างไรบ้าง  มีค่า นิวส์ จะพาทุกคนมารู้จักกัน

“bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล) คืออะไร?

Bubble แปลว่า “ฟองอากาศ” ที่ลอยขึ้นลงในอากาศได้ หมายถึง การควบคุมการเคลื่อนย้ายไม่ให้ปะปนกับผู้อื่น

Seal  แปลว่า “การปิดผนึก” หมายถึง การหยุดไม่ให้เคลื่อนย้ายไปที่อื่น

 “bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล) คือ กลยุทธ์การจัดการโควิด-19  ในโรงงานอย่างมีส่วนร่วม ที่กระทรวงสาธารณสุขออกแบบมา เพื่อบริหารจัดการพื้นที่การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยมุ่งเป้าไปที่โรงงานขนาดใหญ่ ที่เป็นจุดเสี่ยงและพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เพื่อควบคุมไม่ให้เชื้อกระจายออกมานอกพื้นที่ หรือ สู่สังคมภายนอก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://mekhanews.com/2021/06/02/bubble-and-seal/ 

มาตรการ “bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล)  มีหลักการอย่างไร?

เริ่มด้วยการตรวจหาเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding) เมื่อพบผู้ติดเชื้อ จะนำออกมารักษาตามระบบ ส่วนผู้ไม่ติดเชื้อให้ทำงานต่อได้ โดยมีหน่วยงาน รวมถึงนายจ้างดูแลเรื่องการอุปโภคบริโภค ให้อยู่ได้โดยไม่ลำบาก แบ่งเป็น

Seal จะใช้กับสถานประกอบการ หรือ โรงงานที่มีที่พักอาศัยให้กับแรงงาน อยู่ภายในรั้วเดียวกัน เป็นการควบคุมไม่ให้คนงานออกไปนอกพื้นที่โรงงาน ใช้เวลาดำเนินการ 28 วัน มีขั้นตอน คือ

– จัดหาที่พักและอาหาร 3 มื้อให้กับพนักงาน

– จัดทำทะเบียน และ Mapping เพื่อใช้ติดตาม

– แต่งตั้งผู้ควบคุมแต่ละหอพัก และจัดให้ลงทะเบียนเข้า-ออกหอพักทุกวัน

ส่วน Bubble จะใช้กับสถานประกอบการ หรือ โรงงาน ที่แรงงานพักอาศัยอยู่ภายนอก เป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พัก โดยห้ามแวะกลางทาง เมื่อถึงที่พักแล้ว ก็ต้องอยู่แต่ภายในเคหสถาน ใช้เวลาดำเนินการ 28 วัน มีขั้นตอนคือ

– ตั้งแถว มีผู้ควบคุม พาเดินเท้ากลับที่พัก

– จัดหารถ รับ-ส่งพนักงานตามหอพัก

– ใช้ระบบติดตามการเดินทางระหว่างที่พักและที่ทำงาน โดยใช้ QR code รายงานตัว

สำหรับข้อปฏิบัติเพิ่มเติม มีดังนี้

1.ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุม เว้นแต่การเดินทางไปสถานที่ทำงานหรือกลับจากสถานที่ทำงาน หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และหรือได้รับอนุญาต จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

2.ห้ามลูกจ้างของสถานประกอบการเข้าไปในร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือสถานที่ชุมชน ที่มีประชาชนหนาแน่น

3.ให้ลูกจ้างของสถานประกอบการติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” และ “DDC care” เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรคในห้วงระหว่างการควบคุม

4.ให้ผู้ประกอบการกำกับดูแลให้แรงงานดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

5.ให้เจ้าของร้านค้า ตลาดสด ตลาดนัด หรือผู้ดูแลสถานที่ชุมชน ดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข เช่น การรักษาระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

6.ให้เจ้าของหอพัก ห้องเช่า อพาร์ตเมนต์ และสถานที่อื่นที่ ให้เช่าพักอาศัย ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ควบคุม ตรวจตรา กำชับผู้พักอาศัยให้ดำเนินการตามมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน และเขตพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งสอดส่องบุคคลภายนอกมิให้เข้ามาภายในบริเวณที่พักอาศัย

ทั้งนี้ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม จนเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค จะพิจารณาสั่งปิดสถานที่ หรือ สั่งหยุดการประกอบการที่เป็นเหตุแห่งการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดได้

ที่ผ่านมาใช้ มาตรการ “bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล) ที่ไหนแล้วบ้าง?

มีค่า นิวส์ สืบค้นข้อมูลพบว่า มาตรการ “bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล) ไม่ได้จำกัดการใช้แค่ในโรงงานขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ยังพบว่ามีการนำมาประยุกต์ใช้กับเรือนจำ สถานประกอบการ แคมป์ก่อสร้างด้วย  โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องมีพนักงาน หรือ กลุ่มคนในสถานที่นั้นๆ มากกว่า 500 คนขึ้นไป จึงรวบรวมมาให้อ่านคร่าวๆ ดังนี้

– จุดเริ่มต้นของการใช้มาตรการนี้ พบเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ตลาดกลางกุ้ง และโรงงานขนาดใหญ่หลายแห่งของจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ต่อเนื่องจนสถานการณ์ดีขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564  

– ช่วงเดือนเมษายน 2564 นำมาใช้กับผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่มีการติดเชื้อจากการทำกิจกรรมร่วมกัน ในช่วงเวลากลางวัน ทั้งในแดนตนเอง และกิจกรรมข้ามแดน กระทั่งสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ

– ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2564 นำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนใกล้เคียงของจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมดกับการจัดตั้ง Factory Quarantine เพื่อกักตัวกลุ่มผู้สัมผัสภายในโรงงาน จำกัดวงการแพร่ระบาดสู่คนในครอบครัวและชุมชน

– เดือนพฤษภาคม จนถึงมิถุนายน 2564 นำมาใช้ในโรงงานแปรรูปไก่ จังหวัดสระบุรี ที่มีพนักงานมากถึง  5,905 คน ซึ่งมีพนักงานบางส่วน ที่พักอาศัยตามจังหวัดต่างๆ อีก 8 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง ลพบุรี นครนายก นครราชสีมา

– นอกจากนี้ ยังพบว่า นำมาใช้กับแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่ ในกรุงเทพมหานครอีกหลายแห่งด้วย

สำหรับมาตรการ “bubble and seal” (บับเบิลแอนด์ซีล) ไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงาน และสถานประกอบการนั้นๆจะร่วมมือกันอย่างเดียว มีค่า นิวส์ คิดว่า ชุมชนโดยรอบ ก็มีส่วนสำคัญ ในการให้ความร่วมมือ เพื่อให้สถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วนะคะ

ขอบคุณข้อมูล และรูปภาพ >>

– สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

– ประชาชาติธุรกิจ

– กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

Exit mobile version