สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หลายธุรกิจได้รับผลกระทบจำนวนมาก ธุรกิจโรงพิมพ์ก็เช่นกัน จากที่เคยมีงานพิมพ์หนาแน่น แต่เมื่อโรคระบาด เศรษฐกิจไม่ดี ทำให้กำลังซื้อลดลง พันธมิตรทางธุรกิจเริ่มห่างหาย เจ้าของธุรกิจ จึงจำเป็นต้องหาวิธีประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด
SME ทันข่าว มีโอกาสพูดคุยกับคุณพิมพิชชา ประพันธ์บัณฑิต หรือ คุณก้อย เจ้าของโรงพิมพ์ เฮ้าส์ ออฟ เคอร์มิส จะมาแชร์ประสบการณ์ในวันที่ธุรกิจโรงพิมพ์ของเธอ ต้องเผชิญโควิด-19
อยากให้คุณก้อย เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อน ทราบว่า ธุรกิจโรงพิมพ์ เป็นธุรกิจของที่บ้าน แต่คุณก้อยชอบทำงานด้านสื่อมวลชน ทำไมถึงเลือกมาบริหารงานโรงพิมพ์อย่างเต็มตัว
คุณก้อย เล่าว่า เธอเห็นโรงพิมพ์นี้มาตั้งแต่เกิด ซึ่งคุณพ่อเป็นช่างพิมพ์ ทำงานอยู่ในธนาคารแห่งประเทศไทย พอมีความรู้เรื่องงานพิมพ์บ้าง ก็ตัดสินใจลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์มาเปิดโรงพิมพ์เป็นของตัวเอง ลุยกับคุณแม่สองคน จนสามารถจนทะเบียนเป็นบริษัทได้ จนตอนนี้ก็กว่า 30 ปีแล้ว
แต่คุณก้อย ไม่เคยสนใจงานโรงพิมพ์เลย เพราะขัดกับบุคลิกของเธอ ที่เป็นคนกล้าแสดงออก ชอบพบปะผู้คน โดยงานโรงพิมพ์ไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากวันๆก็อยู่แต่กับเครื่องจักร จึงเรียนและทำงานด้านสื่อมวลชนมานาน 4-5 ปี ทุ่มเทมาก กระทั่งรู้สึก อิ่มตัว เกิดความคิดว่า ไม่อยากเป็นลูกน้องใครแล้ว
อยากหาธุรกิจทำ ประกอบกับตอนนั้นธุรกิจโรงพิมพ์ที่บ้าน เริ่มขาดทุน ก็คิดได้ว่า ทำไมถึงไม่ต่อยอดทำธุรกิจที่เรามีอยู่แล้ว และที่บ้านก็อยากให้ช่วยบริหารงานอยู่แล้ว เพราะเป็นลูกคนโตในบรรดาพี่น้องรวม 3 คน เลยตัดสินใจลุย!
แล้วพอได้เริ่มต้น ก้าวแรกของการบริหารงานโรงพิมพ์ เป็นอย่างไรบ้าง
คุณก้อย ยอมรับว่า ยากมากๆ เพราะแม้จะคลุกคลีกับธุรกิจโรงพิมพ์มาตั้งแต่เกิด แต่เธอไม่เคยสัมผัสมันเลย ไม่รู้เลยว่าเครื่องพิมพ์ทำงานอย่างไร ขั้นตอนการรับลูกค้าเป็นอย่างไร ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ด้วยการเรียนรู้จากคุณพ่อคุณแม่ 1 ปีเต็ม เปิดเพจเฟซบุ๊กทำการตลาด สร้างทีมขึ้นมาโดยเฉพาะ ลุยอย่างเต็มที่ เพื่อหาลูกค้าเข้าโรงพิมพ์ จนสามารถดูแลธุรกิจแทนคุณพ่อคุณพ่อแม่ได้ ทั้งการคุยกับลูกค้าเอง เดินทางไปเสนองานให้ลูกค้าถึงที่ เป็นต้น
รายได้ต่อเดือน เป็นอย่างไร ตั้งแต่รุ่นครอบครัวบริหาร จนมาสู่รุ่นคุณก้อยบริหาร
ตอนที่คุณพ่อคุณแม่บริหารกันสองคน ช่วงนั้นธุรกิจโรงพิมพ์กำลังบูม รายได้ก็ค่อยๆเติบโต พุ่งสูงถึงหลักล้านบาท แต่ช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ทำให้รายได้เริ่มลดลง เหลือเพียงหลักแสนบาท เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน ความยากขั้นต่อไป คือ เราจะทำอย่างไร ให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้
โควิดแพร่ระบาดหลายรอบ โรงพิมพ์ของคุณก้อย มีวิธีจัดการอย่างไร
คุณก้อย และครอบครัว พยายามอย่างมากในการกู้สถานการณ์โรงพิมพ์ให้ดีขึ้น แต่เนื่องจากโควิดรอบล่าสุด ทำให้โรงพิมพ์บอบช้ำมาก รายได้ลดลงอย่างน่าตกใจ จนถึงขั้นต้องลดพนักงานลง จากพนักงานทั้งหมด เกือบ 30 คน ตอนนี้เหลือเพียง 5 คน เธอยอมรับว่า ทำได้เพียงแค่ประคองธุรกิจให้ยังอยู่รอดเท่านั้น โดยปรับวิธีบริหารงานใหม่ ดังนี้
1.เน้นขายงานออนไลน์มากขึ้น เพื่อหาลูกค้าใหม่ และรักษามาตรฐานงานในกลุ่มลูกค้าประจำ โดยใช้วิธีคุยงานทางออนไลน์ เช่น อีเมล์ ไลน์ ก่อนจะนัดส่งมอบงานโดยใช้บริษัทขนส่ง
2.ปรับการทำงานในบริษัท เนื่องด้วยจำนวนพนักงาน ที่มีอยู่เพียง 5 คน ประกอบด้วย ช่างพิมพ์ 2 คน / กราฟิก บัญชี ดูแลลูกค้า ตำแหน่งละ 1 คน คุณก้อยจึงให้พนักงานทำงานที่บ้าน เน้นสื่อสารกันทางออนไลน์ ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อ
เมื่อธุรกิจโรงพิมพ์อยู่ในขั้นที่ต้องประคับประคอง คุณก้อยจึงคิดหารายได้เพิ่ม
คุณก้อย กลับไปเยี่ยมคุณยายที่จังหวัดสิงห์บุรีพอดี จึงนึกไอเดียขึ้นมาว่า ถ้าเราขายของกินเพิ่มก็น่าจะดี เพราะรู้สึกว่า ของกินขายง่าย ก็เลยศึกษาทำเล ไม่ถึง 1 สัปดาห์ จนลงตัวที่จะขายขนมปังย่างเตาถ่าน ไส้เยอะ ใช้เวลาเตรียมเปิดร้านเพียง 1 เดือน ด้วยเงินเก็บที่มี 1.5 แสนบาท พอเริ่มขายเดือนแรก ก็ได้ทุนคืนแล้ว ถือว่ามาถูกทางอย่างมาก
แพลนขยายธุรกิจ ทั้งโรงพิมพ์ และ ขนมปัง
คุณก้อย บอกว่า ในส่วนของโรงพิมพ์ตอนนี้ คงต้องรอให้สถานการณ์ดีขึ้น กำลังพยายามประคับประคองอย่างสุดความสามารถ และร้านขนมปัง ก็วางแผนไว้ว่า จะขยายสาขาในจังหวัดสิงห์บุรีเพิ่มเติมในอำเภอต่างๆ
ทราบว่า คุณก้อย แต่งงานแล้ว แถมเป็นคุณแม่ลูกแฝด แบ่งเวลาบริหาร 2 ธุรกิจอย่างไร
ในทุกๆวัน เริ่มจากการดูแลลูกๆ วัยเรียน ระหว่างวันก็จะแบ่งเวลารับงาน คุยงานกับลูกค้าโรงพิมพ์ ช่วงเย็นก็จะปลีกตัวออกไปดูร้านขนมปัง ตรวจมาตรฐานสินค้า ประชุมกับน้องๆพนักงาน วางแผนการขาย จากนั้นก็กลับบ้าน มาดูแลลูกๆ จนถึงเวลาเข้านอน
อยากให้คุณก้อยส่งต่อกำลังใจ ถึงผู้ประกอบการ ที่เจอพิษโควิดแบบเรา
“ก้อยว่า สิ่งสำคัญ คือ ใจของเราต้องแข็งแรงมากๆ สุขภาพก็สำคัญ ถ้าสองอย่างนี้ดี การที่เราจะคิดแก้ปัญหาต่างๆก็จะดีตาม เพราะชีวิตซื้อด้วยเงินไม่ได้ ต้องทำให้ใจแข็งแรง ไม่จมกับความเครียด อดทน แล้วทุกอย่างจะดีขึ้นเองค่ะ”