กระทรวงสาธารณสุขเผยเตียงรองรับโควิดทั่วประเทศยังเพียงพอ ส่วน กทม.อยู่ในภาวะวิกฤตแม้ขยายเตียงแล้ว หากยังพบติดเชื้อเพิ่ม 2 พันรายต่อวัน ไอซียูจะกลับมาเต็มในไม่กี่สัปดาห์ ย้ำต้องช่วยกันลดผู้ป่วย ร่วมกับการใช้ Home Isolation และ Community Isolation ห่วงการติดเชื้อในบ้านและชุมชน ผู้สูงอายุเสี่ยงติดเชื้อเสียชีวิตแนะลดการเดินทาง ใส่หน้ากากป้องกันที่บ้าน เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ
วันนี้ (3 กรกฎาคม 2564) นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ภาพรวมทั้งประเทศยังมีเตียงพอ ส่วน กทม.และปริมณฑลอยู่ในภาวะวิกฤตจึงมีการขยายเตียงเพิ่ม 200-300% ทั้งเตียงสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ล่าสุดโรงพยาบาลเอกชนจะเปิดฮอสปิเทลเพิ่ม 4 พันห้อง กทม.เพิ่มเตียงสีเหลืองและสีแดงอีก แต่เตียงสีแดงขยายได้น้อยกว่าเนื่องจากต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญดูแล เช่น การเปิดเตียงไอซียูของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล รวม 50 เตียง แต่ขาดบุคลากรทางการแพทย์ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ 4 สาขาจบใหม่มาช่วยปฏิบัติงาน ส่วนการขยายเตียงแล้วจะรองรับผู้ป่วยได้นานแค่ไหน หาก กทม.ยังติดเชื้อใหม่ 2 พันรายต่อวันต่อเนื่อง อีกไม่กี่สัปดาห์ไอซียูอาจจะเต็มอีกครั้ง
“เราต้องร่วมกันลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผ่านมาตรการสำคัญ 5 เรื่อง คือ นโยบายรัฐที่ชัดเจน ประชาชนให้ความร่วมมือ ระบบการควบคุมโรคดี ระบบรักษาพยาบาลเข้มแข็ง และการฉีดวัคซีนครอบคลุม คิดว่าจะลดลงได้ เพราะถ้าขยายเตียงเพิ่มอีก สถานที่และอุปกรณ์ไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องขอความเห็นใจแทนบุคลากรทางการแพทย์ หลายคนไม่ได้กลับบ้านมากว่า 2 เดือนแล้ว มีความเหนื่อยล้า ถ้ามีการติดเชื้อในบุคลากรคนก็ลดลงไปอีก” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
นายแพทย์สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราพยายามให้ผู้ป่วยอยู่ในระบบมากกว่าดูแลที่บ้าน เนื่องจากมีข้อมูลว่าการดูแลตนเองที่บ้านสามารถแพร่เชื้อกันเองได้ถึง 10% แต่มีการเตรียมความพร้อมมาตรการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) หากเกิดสถานการณ์วิกฤต โดยทดลองที่โรงพยาบาลราชวิถี 2 เดือน พบว่าผู้ป่วยให้ความร่วมมือดี แยกตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ป่วยรอเตียงหลักพันคน จึงนำมาตรการ Home isolation มาใช้ในผู้ป่วยอาการสีเขียว แยกตัวได้ อยู่บ้านคนเดียว หรือมีห้องเฉพาะ ไม่ได้ใช้กับทุกคน โดยมีการติดตามตามอาการทุกวัน หากอาการเปลี่ยนแปลงจะรีบประสานนำส่งโรงพยาบาล รวมถึงมีมาตรการดูแลผู้ป่วยในชุมชน (Community Isolation) โดยประสานภาคประชาสังคม และ กทม.ร่วมกันดูแลผู้ป่วย จัดสถานที่พักคอย โดยใช้ศาลาวัด ห้องประชุมโรงเรียน หรือโรงงาน เป็นต้น
“ระบบสาธารณสุขจะล่มสลายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วนผ่าน 5 มาตรการโดยมาตรการที่ 4 การรักษาพยาบาลเราพยายามปรับระบบการดูแลจากโรงพยาบาลมาเป็น Home Isolation และ Community Isolation ดังนั้น อีก 4 มาตรการที่เหลือต้องมีการทบทวน โดยใช้ข้อมูลที่เป็นจริงและโปร่งใสมาถกเถียงกันเพื่อให้เกิดฉันทามติ (ใส่หน้ากากอนามัยที่บ้าน ฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง) และเดินหน้าเป็นทีมประเทศไทยต่อไป” นายแพทย์สมศักดิ์กล่าว
นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 น่าเป็นห่วง โดยการระบาดช่วงแรกเดือนเมษายนเริ่มจากพื้นที่ กทม.ขยายไปปริมณฑล และสถานที่ที่อยู่รวมกันอย่างหนาแน่น เช่น โรงงาน สถานประกอบการ เป็นต้น ขณะนี้เชื้อเข้าไปยังชุมชนและครัวเรือนมากขึ้น ประกอบกับการระบาดพบไวรัสกลายพันธุ์ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น ทำให้ตัวเลขวันนี้ติดเชื้อหลัก 6 พันรายเป็นวันที่ 2 และเสียชีวิต 41 ราย
แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ใน กทม.และปริมณฑล และพบการติดเชื้อในต่างจังหวัดจากการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ระบาดกลับไป มาตรการหลัก คือ ลดการเดินทาง ลดโอกาสเสี่ยงการรับเชื้อจากสถานที่ต่างๆ เช่น สถานประกอบการมีมาตรการควบคุมแล้ว การใช้ชีวิตประจำวัน มีการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ส่วนการแพร่เชื้อในชุมชนและครัวเรือน พบว่า การเสียชีวิตส่วนใหญ่ 2 ใน 3 เป็นผู้สูงอายุจึงต้องป้องกัน โดยเน้นย้ำวัยแรงงานที่ออกไปทำงานต้องระวังตัวเองอย่านำเชื้อมาแพร่ผู้สูงอายุ โดยปฏิบัติในครัวเรือนที่เข้มข้นมากขึ้น อาจต้องสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกัน และพยายามฉีดวัคซีนผู้สูงอายุให้เร็วขึ้น เพราะทุกวันนี้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเพียง 10% หากดำเนินการกลุ่มนี้ก่อนให้ได้เร็ว ภายในเดือนนี้ จะลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต