สังคมไทยในอดีต มักจะพบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ อย่างไม่ธรรมระหว่างเพศ การถูกกดขี่ข่มเหง โดยไม่มีมาตรการป้องกัน และผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร แต่ปัจจุบัน รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญเรื่องดังกล่าว จึงตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อกําหนดมาตรการคุ้มครอง ผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
มีค่า นิวส์ จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 พร้อมรายละเอียดแบบเข้าใจง่าย ดังนี้
พ.ร.บ.พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558
เป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครอง และป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นับว่าเป็นกฎหมายชิ้นแรกของไทย ที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 จนตอนนี้ (2564) เข้าสู่ปีที่ 5
พระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วย 6 หมวด 36 มาตรา
1. คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) กำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน จัดทำระเบียบวิธีการสรรหา เพื่อนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการ วลพ.
2.คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ. ) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และยังมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกลไกในการชดเชยและเยียวยาให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ
3.การตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เป็นการวินิจฉัยข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ
4.การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย เมื่อ วลพ.วินิจฉัยว่า มีการเลือกปฏิบัติ ให้ผู้เสียหายมีสิทธิขอรับการชดเชยเยียวยาตามที่ สทพ.กำหนด
5.กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นทุนใช้จ่าย เกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตามพระราชบัญญัตินี้
6.บทกําหนดโทษ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ
คำจำกัดความที่เกี่ยวข้อง
- การเลือกปฏิบัติ หมายถึง การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
- การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หมายถึง การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลนั้นเป็นเพศชายหรือหญิง หรือมีการแสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด
- อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ลักษณะเฉพาะของบุคคล หรือตัวตนของบุคคล ซึ่งรวมทั้งจิตใจและพฤติกรรมที่แสดงออกเกี่ยวกับลักษณะทางเพศสภาพ หรือเพศภาวะของบุคคล
- เพศโดยกำเนิด หมายถึง เพศซึ่งถูกระบุไว้แรกเกิด โดยใช้ลักษณะเพศทางสรีระ หรืออวัยวะเพศเป็นฐานกำหนด
- เพศสภาพ หรือเพศภาวะ หมายถึง การแสดงพฤติกรรม การปฏิบัติ หรือการแสดงบทบาทเพศของบุคคลซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับลักษณะเพศโดยกำเนิด
หากผู้เสียหาย ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถยื่นข้อร้องเรียน ตาม พ.ร.บ.ได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้
1.ผู้เสียหายร้องเรียน หรือ ให้ผู้รับมอบอำนาจร้องเรียนแทน โดยยื่นคำร้องตามแบบ วลพ. 01 ได้ทั้งส่วนกลาง คือ ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ ส่วนภูมิภาค คือ สนง.พมจ. 76 จังหวัด / ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง
2.วิธีการยื่น ทำด้วยตนเอง หรือ ส่งไปรษณีย์ รวมถึงการส่งอีเมล์ gidentity3@gmail.com
3.คณะกรรมการ วลพ. พิจารณา ไต่สวนผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง ด้วยการเรียกมาให้ไต่สวน หรือ ลงพื้นที่ไต่สวน
4.คณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัย อาจมีการชดเชยเยียวยา ในรูปตัวเงิน หรือ รูปแบบอื่น หรือ ไม่มีการชดเชยเยียวยา รวมไปถึงการจำหน่ายคำร้อง
5.วลพ.มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย
6.ผู้เสียหายยื่นขอรับเงินชดเชย เยียวยา ตามแบบ ทพ. 03 จากกองทุนฯ ภายใน 1 ปี
ส่วนตารางค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือ เยียวยา ดูได้ตามตารางด้านล่างนี้ค่ะ (อัพเดท 2563)
มีค่า นิวส์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้เสียหาย ที่ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม ในการรักษาสิทธิให้กับตัวเราเอง และเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เพราะ มีค่า นิวส์ เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ถ้าเป็นคนดี แล้วไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และถูกข่มเหงรังแกค่ะ
ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/018/17.PDF
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว