Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รู้จัก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศกฎหมายสร้างความเสมอภาคในสังคม

สังคมไทยในอดีต มักจะพบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ อย่างไม่ธรรมระหว่างเพศ การถูกกดขี่ข่มเหง โดยไม่มีมาตรการป้องกัน และผู้ถูกกระทำไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร แต่ปัจจุบัน รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญเรื่องดังกล่าว จึงตราพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อกําหนดมาตรการคุ้มครอง ผู้ถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี

มีค่า นิวส์ จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ พ.ร.บ.พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 พร้อมรายละเอียดแบบเข้าใจง่าย ดังนี้

พ.ร.บ.พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

เป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครอง และป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ นับว่าเป็นกฎหมายชิ้นแรกของไทย ที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 จนตอนนี้ (2564) เข้าสู่ปีที่ 5

พระราชบัญญัตินี้ ประกอบด้วย 6 หมวด 36 มาตรา

1. คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) กำหนดนโยบายและมาตรการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน จัดทำระเบียบวิธีการสรรหา เพื่อนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการ วลพ.
2.คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ. ) มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยคำร้อง เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และยังมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกลไกในการชดเชยและเยียวยาให้แก่ผู้ที่ถูกเลือกปฏิบัติ
3.การตรวจสอบการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เป็นการวินิจฉัยข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ
4.การชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย เมื่อ วลพ.วินิจฉัยว่า มีการเลือกปฏิบัติ ให้ผู้เสียหายมีสิทธิขอรับการชดเชยเยียวยาตามที่ สทพ.กำหนด
5.กองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นทุนใช้จ่าย เกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศตามพระราชบัญญัตินี้
6.บทกําหนดโทษ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ

คำจำกัดความที่เกี่ยวข้อง

หากผู้เสียหาย ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถยื่นข้อร้องเรียน ตาม พ.ร.บ.ได้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1.ผู้เสียหายร้องเรียน หรือ ให้ผู้รับมอบอำนาจร้องเรียนแทน โดยยื่นคำร้องตามแบบ วลพ. 01 ได้ทั้งส่วนกลาง คือ ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ ส่วนภูมิภาค คือ สนง.พมจ. 76 จังหวัด / ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง
2.วิธีการยื่น ทำด้วยตนเอง หรือ ส่งไปรษณีย์ รวมถึงการส่งอีเมล์ gidentity3@gmail.com
3.คณะกรรมการ วลพ. พิจารณา ไต่สวนผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง ด้วยการเรียกมาให้ไต่สวน หรือ ลงพื้นที่ไต่สวน
4.คณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัย อาจมีการชดเชยเยียวยา ในรูปตัวเงิน หรือ รูปแบบอื่น หรือ ไม่มีการชดเชยเยียวยา รวมไปถึงการจำหน่ายคำร้อง
5.วลพ.มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย
6.ผู้เสียหายยื่นขอรับเงินชดเชย เยียวยา ตามแบบ ทพ. 03 จากกองทุนฯ ภายใน 1 ปี

ส่วนตารางค่าใช้จ่าย ช่วยเหลือ เยียวยา ดูได้ตามตารางด้านล่างนี้ค่ะ (อัพเดท 2563)

มีค่า นิวส์ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้เสียหาย ที่ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม ในการรักษาสิทธิให้กับตัวเราเอง และเพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เพราะ มีค่า นิวส์ เชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ถ้าเป็นคนดี แล้วไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ก็ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ และถูกข่มเหงรังแกค่ะ

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/018/17.PDF
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว

Exit mobile version