กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.)กับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า มีนางสาวนีระนารถ แจ้งทอง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ และนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นผู้แทนลงนาม
ในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ และโฆษก อว. เข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม เพื่อขับเคลื่อนงานบริการทางวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศและชุมชนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า อว. มีความยินดีและเต็มใจที่ วศ. หน่วยงานที่ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังกัด อว.ได้นำความรู้และประสบการณ์มาให้บริการแก่ภาคธุรกิจ การที่ประเทศไทยเจริญก้าวหน้ามาจนถึงวันนี้ ภาคธุรกิจจำเป็นที่จะต้องอาศัยองค์ความรู้และความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อแข่งขันในระดับสากล
การวัดความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ไม่ได้วัดเพียงมีจีดีพีขนาดใหญ่หรือไม่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูที่การพัฒนาด้าน วทน.ด้วย การลงนามความร่วมมือของ วศ. และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเสริมจุดแข็งใน 4 ด้าน คือ
1.สมุนไพรและสุขภาพ
2.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
3.เทคโนโลยีเซรามิก
4.เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์
ขอให้เอสเอ็มอีไทยอุ่นใจและเบาใจได้ว่า อว. เอาจริงเอาจัง และพร้อมช่วยแก้ปัญหาให้ทุกท่านอย่างเต็มที่
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จะเป็นต้นแบบในการนำงานบริการวิทยาศาสตร์และวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมตามที่ตกลงร่วมกัน มาใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อผู้ประกอบการในการพัฒนาระบบคุณภาพกระบวนการผลิตสินค้า และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้ประกอบการให้มีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนดไว้ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสากล
ขณะนางสาวนีระนารถ แจ้งทอง รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ระบุว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย โดยการนำงานบริการและวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มาพัฒนากระบวนการผลิตและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของผู้ประกอบการให้เป็นที่ยอมรับ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการกำหนดแผนงานและโครงการร่วมกันทั้งในระดับพื้นที่และภูมิภาค สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความกระชับและคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันอุดมศึกษา และวิทยาลัยชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการช่วยขับเคลื่อน SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ วศ. เป็นหน่วยงาน ที่ให้บริการทางวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความพร้อมในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภายในประเทศ ตลอดจนมีการให้บริการตรวจสอบและรับรองทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สามารถเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพสินค้าของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก