Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะผู้เสียหายเหตุระเบิดโรงไฟฟ้ากิ่งแก้ว รวบรวมหลักฐานเพื่อเคลมประกันภัย

สภาองค์กรของผู้บริโภค แนะผู้เสียหายเหตุระเบิดโรงไฟฟ้ากิ่งแก้ว รวบรวมหลักฐานเพื่อเคลมประกันภัย

จากกรณีเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงาน 2 แห่ง คือโรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เลขที่ 87 ซอยกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และบริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ในช่วงวันที่ 5 – 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากนั้น

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะผู้แทนผู้บริโภค และคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมถึงมีอำนาจในการดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือดำเนินต่อศาล ตามมาตรา 14 (6) ของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 จึงขอแนะนำผู้เสียหายในฐานะผู้บริโภคซึ่งมีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยา และได้รับความเป็นธรรมตามสัญญาประกันภัยที่โรงงานทั้งสองบริษัทได้ทำไว้กับบริษัทประกันภัยเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก

โดยเบื้องต้น ผู้บริโภคควรเร่งรวบรวมหลักฐานความเสียหายในด้านต่างๆให้ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อประกอบการเรียกร้องค่าเสียหายกับโรงงานที่เกิดเหตุและบริษัทประกันภัยที่โรงงานได้ทำประกันไว้ ดังนี้

  1. หลักฐานยืนยันตัวตน เช่น สำเนาบัตรประชาชน หรือหนังสือเดินทาง หรือหรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการออกให้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ที่มีชื่อในหลักฐานนั้นเป็นผู้ประสบภัย
  2. หลักฐานพิสูจน์ความเสียหายต่อร่างกาย ได้แก่ ภาพถ่ายบาดแผล ใบรับรองแพทย์หรือหนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ใบประเมินค่ารักษาพยาบาลในอนาคต ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล หรือใบแจ้งหนี้ค่ารักษาพยาบาล
  3. หลักฐานพิสูจน์ความเสียหายต่อทรัพย์สิน ได้แก่ ภาพถ่ายความเสียหายของทรัพย์สิน รถยนต์และบ้านเรือน ระบุวันที่ เวลาไว้ ภาพถ่ายทรัพย์สินก่อนเกิดเหตุ (หากมี) รวมทั้งเก็บใบเสร็จค่าซ่อมทุกอย่าง ลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อยืนยันว่าทรัพย์สินที่เสียหายเป็นของตนจริง สามารถหาเช่าบ้าน ที่พักหรือโรงแรม และเก็บใบเสร็จค่าเช่าบ้าน ที่พักหรือโรงแรมไว้เรียกร้องได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่มาจากเหตุละเมิด ทำให้ต้องจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวจนกว่าจะมีที่อยู่อาศัยของตนเอง
  4. หลักฐานเรียกร้องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าพาหนะเดินทางเนื่องจากต้องเดินทางไปรักษาพยาบาล หรือสถานีตำรวจ โดยทำบันทึกระบุวันที่ เวลาเดินทางไป – กลับ เป็นค่าเสียหายที่เรียกร้องได้ เพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สืบเนื่องจากการทำละเมิดของบริษัท

สารี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถดำเนินการเรียกร้องได้โดยตรงกับบริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด และบริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป จำกัด ซึ่งทั้งสองโรงงานอาจมอบหมายให้บริษัทประกันภัยเป็นตัวแทนของโรงงานในการเจรจาค่าเสียหาย หากพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกินกว่าที่บริษัทประกันภัยรับผิดชอบหรือเกินวงเงินประกันภัยที่โรงงานทำไว้ ประชาชนผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีได้ โดยใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2550 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยมาตรา 63 ของกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตรายต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองของตน และควรรีบดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายภายใน 3 ปี และถ้ามีการเจรจาตกลงในเรื่องค่าสินไหมทดแทน ให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าการเจรจาไม่อาจจะตกลงกันได้

หากผู้บริโภคท่านใดมีข้อสงสัย หรือยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม สามารถแจ้งร้องทุกข์ต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคเพื่อให้ดำเนินการในฐานะผู้แทนผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิแทนผู้บริโภคได้

ช่องทางติดต่อสภาองค์กรของผู้บริโภค
โทรศัพท์ : 098 909 9151
อีเมล : tcc.complain@gmail.com

ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค

Exit mobile version