Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ศบค.ไม่ได้ห้ามประชาชนตรวจโควิด แต่ขอเน้นตรวจ 2 กลุ่มเสี่ยงก่อน

ไม่ห้ามประชาชนตรวจโควิด แต่ขอเน้นตรวจ 2 กลุ่มเสี่ยงก่อน

กรณีที่มีประชาชนร้องเรียนว่า ไม่สามารถหาหรือได้รับการปฏิเสธ การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของโรงพยาบาล  เรื่องนี้ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ระบุว่า ภาครัฐไม่ได้ห้าม ไม่ให้ประชาชนที่มีความสงสัยและต้องการตรวจ เข้าตรวจหาเชื้อ

ที่ประชุม ศบค. ย้ำเสมอว่า แล็บ ที่รับตรวจ จะต้องมีมาตรฐาน ซึ่งแล็บส่วนใหญ่ได้มาตรฐานที่กำหนด แต่สำหรับการตรวจแบบ ที่เรียกว่า Rapid test หากเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีเชื้อปริมาณมาก  สามารถตรวจจับได้จริงว่า เป็นผลบวก แต่ก็พบว่า ความไวของการตรวจแบบ Rapid test ค่อนข้างต่ำ ซึ่งหมายความว่าบางคนผลออกมาลบ แต่คนๆ นั้นอาจเป็นผู้ติดเชื้อ

ดังนั้น จะเน้นตรวจ ด้วย Rapid test ใน 2 กลุ่มหลัก คือ

1.กลุ่มที่เตรียมการผ่าตัด การคลอดลูก ทำฟัน หรือจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เข้าห้องไอซียู

2.กลุ่มที่ถือได้ว่ามีประวัติเสี่ยงสูง เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง

ซึ่งการตรวจของโรงพยาบาลในสองกลุ่มนี้ ตัวเลขอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน ถือว่าเป็นภาระหน้างาน ดังนั้น ถ้าประชาชนที่เข้าไปขอตรวจ โดยไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผ่าตัด หรือ ไม่ได้มีประวัติเสี่ยงสูงใดๆ โรงพยาบาลอาจจะขอให้สิทธิกับผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องตรวจก่อน

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้หารือว่า การที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงตรวจจะมี 2 ส่วน คือ ถ้าเป็นผู้ป่วยเข้ามาขอตรวจเองด้วยประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อที่ยืนยันก่อนหน้านี้ พบว่าในจำนวนตรวจ 100 คน มี 90 คนเป็นผลบวก ถือว่าแม่นยำ 90% ขณะที่อีกส่วนหนึ่ง กทม.รายงานว่ามีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนที่ตลาด โรงงาน เมื่อไปตั้งจุดตรวจตาม 6 กลุ่มเขต พบว่า อัตราการตรวจจับการระบาดในระบบเฝ้าระวัง พบผู้ติดเชื้อเพียง 10%

ดังนั้น กทม.จึงจะปรับระบบการตรวจโดยเน้นย้ำไปในการค้นหา 2 ส่วน คือ ส่วนการระบาด และส่วนที่ตรวจตามไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ เพื่อติดตามว่าอาศัยอยู่ในครอบครัวกับใครบ้าง ทำงานสัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดกับใครบ้าง

Exit mobile version