นายแพทย์วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เปิดเผยถึงมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรเตียง สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระบุว่า ต้องทำให้ปริมาณเตียงในระดับต่างๆ และการนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษามีความสัมพันธ์กัน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข มีหลักการ 3 ข้อ ดังนี้
- เพิ่มสมรรถนะเตียง สำหรับผู้ป่วยสีเขียวให้สูงขึ้น เพื่อดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการทดแทนเตียง สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว โดยจะมีระบบให้กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว สามารถดูแลรักษาที่บ้าน หรือ ที่ชุมชนแทน ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิด
- ปรับเพิ่มเตียงสีแดงมากขึ้น เท่าที่จะดำเนินการได้ เพราะการลดจำนวนผู้ป่วยสีแดง เป็นเป้าหมายหลักในการบริหารจัดการ
- ระดมฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคให้ได้มากที่สุด ครอบคลุม 80% ของประชากร จะช่วยให้ มีภูมิต้านทาน ลดระดับของความรุนแรงของโรคลงได้
สำหรับสถานการณ์เตียงทั่วประเทศ เริ่มที่กรุงเทพมหานคร พบว่า เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเขียวว่าง 20 ถึง 24% / เตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Cohort Ward) ว่าง 6% ห้องแยกว่าง 13% และเตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงโดยรวมว่าง 10%
ส่วนจังหวัดอื่นๆ พบว่า มีอัตราการใช้เตียงสีเหลืองสูงที่สุด ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนของผู้ป่วยที่เดินทางจากรุงเทพฯ กลับไปยังจังหวัดภูมิลำเนา แต่สำหรับเตียงสีแดงในภูมิภาค ยังเหลือประมาณ 30% สามารถเพิ่มขยายได้ในศักยภาพที่กระทรวงสาธารณสุขดูแล
ด้านภาพรวมทั้ง 12 เขต สุขภาพ หลายเขต เริ่มใช้ทรัพยากรเกิน 80% แต่ทุกจังหวัดมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อป้องกันการขาดแคลนเตียง โดยจะบริหารอย่างดีที่สุด เพื่อดูแลผู้ป่วยในช่วงนี้
ขณะที่หลายภาคส่วน ช่วยประสานงานร่วมกัน เช่น การรับแจ้งผ่านสายด่วน สปสช.1330 ที่จะประสานการจัดหารถ ส่งตัวผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา อย่างถูกต้องและปลอดภัย