หลังจากกระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการให้ผู้ป่วยโควิด-19 แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ทำให้เกิดขยะติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภค (แบบใช้ครั้งเดียว) หรือ แม้แต่ Antigen Test Kit จึงจำเป็นต้องแยกออกจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค โดยมีแนวทางการจัดการ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
- กรณีในพื้นที่หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ
- เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อ เป็นประจำทุกวัน ด้วยการใส่ถุงขยะ (ถุงแดง) 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรก ที่สัมผัสมูลฝอยติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น ไฮเตอร์ หรือ แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์
- ซ้อนถุงอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้
- ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ นำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป
- ภายหลังจับถุงขยะ ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์ทันที
- กรณีในพื้นที่หรือชุมชน ไม่มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ
- เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรก ที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ หรือ น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ หรือ แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์
- ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้
- ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป
- ภายหลังจับถุงขยะ ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือ เจลแอลกอฮอล์ทันที