หลังกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนภัยว่า ช่วงสัปดาห์นี้ ยังคงมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามท้องถนน ประกอบกับเป็นช่วงฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรอาจต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานานขณะเตรียมพื้นที่ก่อนการเพาะปลูก อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้ฉี่หนูได้ง่าย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง
เนื่องจาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 กรกฎาคม 2564 พบผู้ป่วยจากโรคฉี่หนูแล้ว 476 ราย เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 35-44 ปี รองลงมาอายุ 25-34 ปี และอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร ภาคที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง ยะลา พังงา สงขลา และพัทลุง
สำหรับโรคไข้ฉี่หนู จะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนาน และการรับประทานอาหาร หรือ น้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากฉี่หนูหรือสัตว์อื่นๆ ที่ติดเชื้อได้ ส่วนอาการของโรค คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว จะปวดมากที่น่องและโคนขา อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และตาแดง เป็นต้น
หากประชาชนมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดจากพบแพทย์ช้าเกินไป และอย่าซื้อยามารับประทานเองเด็ดขาด อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นได้ ที่สำคัญขอให้แจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาทันที
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถป้องกันโรคไข้ฉี่หนู ได้ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ 2.หมั่นล้างมือ ล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ 3.หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที