นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (20 ก.ค.64) ว่าที่ประชุมเห็นชอบอนุมัติวงเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 13,500 ล้านบาท เพื่อใช้เยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา
ใน 9 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง / กิจการที่พักแรม และบริการด้านอาหาร/ร้านอาหาร / กิจการศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ / กิจการบริการด้านอื่นๆ / กิจการอาชีพขายส่ง ขายปลีก และซ่อมยานยนต์ / กิจการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า / กิจกรรมการบริหาร และบริการสนับสนุน / กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ / กิจการข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 นอกจากจะได้รับชดเชยเหตุสุดวิสัย 50% แล้ว ผู้ประกันตน ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลเพิ่มเติม เป็นเงินอีกคนละ 2,500 บาท โอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น
ส่วนนายจ้างจะได้รับการเยียวยา จากรัฐบาล ตามจำนวนลูกจ้าง หัวละ 3,000 บาท สูงสุดลูกจ้างไม่เกิน 200 คน โดยนายจ้างบุคคลธรรมดา จะได้รับเงินโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเช่นกัน / นายจ้างสถานะนิติบุคคล จะโอนเข้าบัญชีธนาคารตามชื่อนิติบุคคลนายจ้าง
ซึ่ง มติ ครม.ดังกล่าวจะทำให้กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในพื้นที่ 10 จังหวัดได้รับการเยียวยา นายจ้างประมาณ 160,000 ราย เป็นเงิน 6.4 พันล้านบาท ส่วนลูกจ้างมีจำนวน 2.8 ล้านราย เป็นเงิน 7.1 พันล้านบาท คาดว่าลูกจ้างและนายจ้างในพื้นที่ 10 จังหวัดจะได้รับเงินเยียวยาในวันที่ 6 ส.ค.นี้ โดยลูกจ้างและนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดาตรวจสอบสิทธิได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.64 เป็นต้นไป