Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“นักพากย์” อาชีพขายเสียง สร้างรายได้สูงสุดหลักแสน! การ์ตูน สารคดี ซีรี่ส์

เวลาเราชมการ์ตูน ภาพยนตร์ สารคดี หรือ ซี่รีส์จากต่างประเทศ เรามักจะได้ยินเสียง “นักพากย์” ที่ถ่ายทอดอารมณ์ ให้เราสัมผัสความรู้สึกของตัวละคร ผ่านเสียงของพวกเขา ทำให้บางครั้ง เราอาจเผลอจินตนาการไปว่า หน้าตาของ “นักพากย์” จะเหมือน หรือ ใกล้เคียงตัวละครหรือไม่ บางคนถึงขั้นหลงใหลในเสียงนั้น จนเผลอตัวเผลอใจ กลายเป็นแฟนคลับของพวกเขาได้เลยทีเดียว

แต่ในยุคที่โควิด-19 แพร่ระบาด ไม่ว่าจะอาชีพไหน ก็ได้รับผลกระทบทั้งนั้น ด้วยข้อจำกัดที่ผู้คนกลัวการติดเชื้อ ไม่กล้าเดินทางออกจากบ้าน อาชีพ “นักพากย์” ก็ไม่ต่างกัน SME ทันข่าว วันนี้ มีค่า นิวส์ มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณกรรัตน์  วงศ์เวชสวัสดิ์  หรือ คุณแป้ง “นักพากย์ฟรีแลนซ์” 

ซึ่งเธอมีผลงานพากย์เสียงการ์ตูน สารคดี ภาพยนตร์ ซี่รีส์ มาแล้วหลายเรื่อง จะมาแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง ที่เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อก้าวเข้าสู่เส้นทาง “นักพากย์” อย่างเต็มตัว รวมถึงผลกระทบการรับงานในช่วงโควิด-19 เป็นอย่างไร ติดตามพร้อมกันค่ะ

เริ่มต้นจากใจรัก แล้วลงมือสานฝันให้เป็นจริง!

คุณแป้ง เล่าว่า ตัวเอง เริ่มต้นจากใจรัก เพราะชอบดูการ์ตูนมาตั้งแต่สมัยเด็ก แต่เริ่มฝึกพากย์ด้วยตัวเองตอนช่วงมัธยมเรียนมัธยม โดยฝึกเองมาตั้งแต่นั้น จนเรียนระดับมหาวิทยาลัย ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายมากขึ้น เธอจึงลองค้นหาข้อมูล พบมีให้ส่งเสียงเข้าประกวด “นักพากย์” จึงไม่รอช้าส่งเสียงของตัวเองประกวด แต่ก็ไม่ผ่านการคัดเลือก

กระทั่งเรียนจบ เธอตัดสินใจเข้าเรียนกับสถาบันสอนพากย์ อย่างจริงจัง โดยใช้เงินเก็บร่วม 1 แสนบาท มาต่อยอดเรียนกับสถาบันแห่งหนึ่ง เพราะตอนนั้นสถาบันสอนมีน้อย เพื่อเรียนรู้เทคนิค วิธีการ หาคอนเนคชั่น เพื่อเข้าสู่วงการ “นักพากย์” ให้ได้  ใช้เวลาอยู่แค่ประมาณ 1-2 เดือน แต่ฝึกต่อหลังจากเรียนจบหลายปี ช่วงที่เรียนปี 2557 เริ่มฝึกพากย์จริงจัง จนปี 2558 ฝึกถึงช่วงปลายปี 2559 จึงลองถามอาจารย์ที่สอนพากย์ ว่าตัวเอง มีแววทางด้านนี้หรือไม่

อาจารย์ตอบมาว่า พอไปไหว คุณแป้งซึ่งตอนนั้น ทำงานประจำอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง ก็เรียนพากย์ไปทำงานไป แต่พอเรียนพากย์จบ ถึงตัดสินใจลาออกตัดสินใจ เพื่อมาลุยอาชีพนี้อย่างจริงจัง โดยเธอยอมรับว่า แม้จะเสี่ยง แต่ก็ยอมเสี่ยง เพราะเป็นความใฝ่ฝันที่คิดไว้แล้วว่า จะต้องทำให้สำเร็จ

พอเริ่มลุยแล้ว เป็นอย่างไรต่อ คุณแป้งได้พากย์เสียงอย่างที่ตั้งใจไหม?

หลังลาออกจากงานประจำ คุณแป้งก็มาเรียนกับทางสถาบัน Dubbing Corner (สถาบันสอนพากย์) อาจารย์ที่สอน ก็ให้โอกาสเราได้พากย์ เป็นตัวประกอบ กับช่องหนึ่ง ตอนนั้นดีใจมาก ก็ทำอย่างเต็มที่ ถึงจะไม่ใช่ตัวละครหลัก เพราะยังเป็น ”เด็กฝึกพากย์”

จนมีช่วงหนึ่งที่มีอุปสรรค เนื่องจากช่องที่พากย์อยู่ หมดสัญญากับบริษัท ช่องจึงปิดตัวลง ตอนนั้นเคว้งมาก จึงตัดสินใจไปเรียนเพิ่มเติมอีก กับสถานบันอื่นๆ เพื่อหาคอนเนคชั่นเพิ่มเติม ในการรับงาน ซึ่งก็มีผลงานพากย์มาเรื่อยๆ กระทั่งได้พากย์เป็นตัวเอก (พระนาง)

ส่วนตัว ถือว่า “นักพากย์” ที่ประสบความสำเร็จหรือยัง ?

คุณแป้ง มองว่า “ไม่เชิงว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่มองว่าตัวเองยังต้องพัฒนาให้มากขึ้นไปอีก เพราะงานพากย์เป็นงานที่เรียนรู้ไม่สิ้นสุด เรียนรู้จากตัวงานได้ไม่จบสิ้น และตัวเองยังถือว่าเป็นนักพากย์หน้าใหม่ คนรู้จักยังน้อย งานก็ไม่ได้เยอะอะไรมากมาย แต่ถ้าในแง่ของการประสบความสำเร็จในการตามความฝัน มองว่าประสบความสำเร็จแล้ว เนื่องจากได้เข้ามาในวงการพากย์ และทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ด้วยอาชีพนี้”

แล้วรายได้เป็นอย่างไรบ้าง ?

ส่วนของคุณแป้ง เป็น “นักพากย์ฟรีแลนซ์” รายได้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนงาน และประสบการณ์ ก็มีเป็นแบบงานทีม / งานเจาะ / และงานเหมา ซึ่งรายได้ค่อนข้างสวิง แต่เฉลี่ยจะอยู่หลักหมื่นบาท สูงสุดที่เคยรับ คือ หลักแสนบาทต่อเดือน!! และถ้าเทียบกับเงินที่ลงทุนเรียนไป ถือว่า คืนทุนมานานแล้ว

โควิด-19 กระทบกับอาชีพ “นักพากย์”  หรือไม่ ?

คุณแป้ง บอกว่า ส่วนตัวได้รับผลกระทบมากๆ เพราะรับงานแบบ งานทีมไม่ได้มากเหมือนตอนที่ไม่มีโควิด เพราะงานทีม นักพากย์ทุกคน จะต้องมานั่งพากย์รวมกัน เธอไม่อยากเดินทางไป เนื่องจากกลัวความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อ เพราะมีกรณีตัวอย่าง ที่คนอื่นทำงานร่วมกันและติดมาแล้ว จึงทำให้รายได้ตรงนี้หายไป

และหากจะให้พากย์อยู่ที่ห้อง อุปกรณ์ก็อาจจะไม่ได้คุณภาพเพียงพอ เพราะสำหรับบางบริษัทก็กำหนดคุณภาพเสียงไว้สูงมาก  ถ้าช่วงไม่มีโควิด เธอยังสามารถเดินทางไปพากย์ที่ห้องอัดของบริษัทได้ แต่พอโควิดเข้ามา ทำให้เธอต้องปฏิเสธการทำงานแบบรวม

เคล็ดลับการรับงานช่วงโควิด คุณแป้ง มีวิธีอย่างไร ?

หลักๆ มีอยู่ 4 ข้อ คือ

1.เรียนเพิ่มเติมหาความรู้ เพื่อเพิ่มคอนเนคชั่น

2.ใช้โชเชียลแนะนำตัวเองให้เป็น เพื่อเพิ่มการรู้จัก

3.ต้องเป็นคนที่ดี ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ

4.พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ นำคำตำหนิต่างๆ มาปรับปรุงการพากย์

สุดท้ายอยากฝากบอกอะไรกับผู้ประกอบการคนอื่นที่เจอโควิดเหมือนกัน

“อย่ายอมแพ้ สู้ต่อไป ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แล้วแต่ว่าจะมากหรือน้อย แล้วแต่ปัจจัยของแต่ละงาน แค่เราต้องสู้ๆนะคะ”

Exit mobile version