หลังจากวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนําและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง 4 ชนิด เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศ
หากผู้ใดฝ่าฝืน มีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท!! มีค่า นิวส์ เลยจะพามาส่อง 4 สารเคมีต้องห้ามดังกล่าวว่ามีอะไรบ้าง และทำอันตรายอะไรให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเลบ้าง เพื่อที่ทุกคนจะได้ระมัดระวังกันค่ะ
สารเคมีต้องห้าม 4 ชนิด ได้แก่
– Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3)
– Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate)
– 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC)
– Butylparaben
สาเหตุที่ต้องออกกฏแบนสารเคมี 4 ชนิดในครีมกันแดดขึ้นมา เพราะจากการศึกษาวิจัยทั้งในทะเลไทย และทั่วโลก พบว่า สารเคมีในครีมกันแดด ที่ปลอดภัยกับมนุษย์นั้น สามารถสร้างอันตรายกับสิ่งมีชีวิตในทะเลมากกว่าที่ตาเห็น เช่น
1. สาหร่ายทะเล : ระบบสังเคราะห์แสงทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่งผลเสียต่อการเติบโต และขยายพันธุ์
2. ปะการัง : สะสมใน DNA และ เนื้อเยื่อ เร่งอัตราการฟอกขาวและตายในที่สุด
3. หอยแมลงภู่ : สะสมในเนื้อเยื่อ รบกวนการเติบโตในตัวอ่อน
4. หอยเม่น : ทำลายภูมิคุ้มกัน และระบบสืบพันธุ์ ส่งผลให้ตัวอ่อนกลายพันธุ์ ผิดรูปร่าง
5. ปลาทะเล : ส่งผลให้ตัวเมีย ผลิตไข่ได้น้อยลง และส่งผลให้เกิดภาวะเปลี่ยนเพศในตัวผู้ ไม่สามารถผสมพันธุ์ได้
6. โลมา : มีการสะสมสารเคมีในเนื้อเยื่อ และส่งต่อทางพันธุกรรมไปยังรุ่นลูก ซึ่งอาจส่งผลต่อการกลายพันธุ์ในอนาคต
ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แนะนำให้เราใช้ครีมกันแดด ที่มีสัญลักษณ์ #ReefSafe หรือ #OceanFriendly แทนค่ะ
เอาเป็นว่า เมื่อรู้ถึงอันตรายของสารเคมีที่จะทำร้ายเพื่อนร่วมโลกใต้ทะเลของเราแบบนี้แล้ว มีค่า นิวส์ คิดว่า คงไม่ยากเกินไปใช่ไหมคะ ที่ครั้งหน้าเวลาไปทะเล เราจะเปลี่ยนมาใช้ครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อปะการังแทน
ที่มา : เฟซบุ๊ก TOP Varawut – ท็อป วราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม