Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงจำนวนผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต ด้วยโรคโควิด-19 พบส่วนใหญ่ เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อมากที่สุด คือ สัมผัสกับบุคคลในครอบครัว หรือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ต้องมีการยกระดับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้สูงอายุให้มากขึ้น

รัฐบาลจึงขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุ เก็บตัวอยู่ในบ้านให้มากที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ  พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่ยังมีความจำเป็นต้องออกไปนอกบ้าน ให้ปฏิบัติตัวตามแนวทางที่กำหนด มีค่า นิวส์ จึงขอสรุปแนวทางดูแลผู้สูงอายุอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโควิด-19 มาฝากกันค่ะ

ญาติที่ไม่ใช่ ผู้ดูแลหลัก และคนรู้จัก

1.กรณีเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อ เช่น มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 หรือ เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือ แหล่งที่มีการติดเชื้อในชุมชน ต้องไม่เข้าไปใกล้ชิด สัมผัส เด็ก ผู้สูงอายุ อย่างเด็ดขาด เพราะเด็กมักจะไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุ และเด็กอาจไม่เข้าใจ ขาดความระมัดระวังในการป้องกัน

2.ผู้ที่มีไข้ตัวร้อน หรือ มีอาการผิดปกติทางระบบทางเดินหายใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ขอให้งดเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุโดยเด็ดขาด

3.งด หรือ ลดการมาเยี่ยมจากคนนอกบ้านให้น้อยที่สุด โดยแนะนำให้ใช้การเยี่ยมทางโทรศัพท์ หรือ ออนไลน์

4.ในขณะเข้าเยี่ยมผู้สูงอายุ ใส่หน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ลดการเข้าใกล้ สัมผัสผู้สูงอายุรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

ผู้ดูแลหลักของผู้สูงอายุ และตัวผู้สูงอายุ

1.ควรจัดให้มีผู้ดูแลหลักคนเดียว เลือกคนที่สามารถอยู่บ้านได้มากและจำเป็นต้องออกไปนอกบ้านน้อยที่สุดแต่สามารถสลับสับเปลี่ยนผู้ดูแลหลักได้ แต่ไม่ควรเปลี่ยนบ่อย และต้องแน่ใจว่าผู้จะมาเป็นผู้ดูแลหลัก คนใหม่ต้องไม่ใช่ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

2.ระหว่างมีการระบาดทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด

3.ทั้งผู้ดูแลหลักและผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็ก (เด็กมักจะไปใกล้ชิดกับผู้สูงอายุและเด็กอาจไม่เข้าใจวิธีและขาดความระมัดระวังในการป้องกัน)

4.หากผู้สูงอายุ หรือ ผู้ดูแลต้องออกนอกบ้าน ควรเลือกเวลาออกจากบ้านที่ไม่เจอกับความไม่แออัด หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะและการไปในที่แออัด ต้องรีบท้าธุระให้เสร็จโดยเร็ว ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทุกครั้งพกแอลกอฮอล์เจลไปด้วย โดยทำความสะอาดมือทุกครั้ง หลังจับสิ่งของ และก่อนเข้าบ้าน

5.ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ดูแลเมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำสระผม ทำความสะอาดร่างกายและของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที ก่อนไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้สูงอายุคนอื่นๆ

6.หากผู้สูงอายุต้องไปพบแพทย์ตามนัด

– ในกรณีที่อาการคงที่ และ ผลการตรวจล่าสุดปกติ ให้ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อเลื่อนนัด หรือ ไปรับยาแทนหรือรับยาใกล้บ้าน

– ในกรณีที่อาการแย่ลง หรือ ผลการตรวจล่าสุดผิดปกติควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลเพื่อนัดหมายไปตรวจด้วยช่องทางที่ปลอดภัยที่สุด โดยให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าคลุมผ้าที่ตัวผู้สูงอายุให้มิดชิด และเมื่อกลับถึงบ้าน ให้อาบน้ำสระผม ท้าความสะอาดร่างกายและของใช้ที่ติดตัวกลับมาจากนอกบ้าน เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่และซักเสื้อผ้าและผ้าคลุมทันที

7.ล้างมือด้วยการฟอกสบู่อย่างน้อย 20 วินาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด หรือ ทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจล โดยทิ้งไว้ให้ชุ่มไม่แห้งเร็วกว่า 20 วินาที ทุกครั้งเมื่อกลับเข้าบ้าน ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังการไอจาม และหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

8.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน แต่หากมีการมาร่วมรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับ หรือ ใช้ภาชนะเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน

9.ผู้สูงอายุควรแยกห้องพักและของใช้ส่วนตัว หากแยกห้องไม่ได้ ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด ที่พักอาศัยและห้องพักควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

10.หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ 70%, แอลกอฮอล์เจลsodium hypochlorite (น้ำยาซักผ้าขาว) หรือ chloroxylenol หรือ hydrogen peroxide เช็ดตามสวิตช์ไฟ ลูกบิด หรือ มือจับประตู โต๊ะ ราวจับ รีโมท โทรศัพท์ พื้น โถส้วม ปุ่มกดน้ำชักโครก ก๊อกน้ำ ระวังพลัดตกหกล้มโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เปียกน้ำ หรือ พื้นลื่นที่เป็นผิวมัน

สังเกตอย่างไรว่า ผู้สูงอายุติดเชื้อ ?

กรณีที่ผู้สูงอายุมีการติดเชื้อเกิดขึ้น อาการอาจไม่ชัดเจน และไม่ตรงไปตรงมา เช่นอาจไม่มีไข้ หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร หรือรับอาหารทางสายยางไม่ได้ ซึมสับสนเฉียบพลัน ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงอย่างรวดเร็ว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะรุนแรงมากกว่าในวัยอื่นๆ

ขอบคุณข้อมูล : https://covid19.dms.go.th/backend/Content/Content_File/Covid_Health/Attach/25630406112904AM_%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%20COVID-19%20%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%94_final.pdf

ขอบคุณรูปภาพ : กรุงเทพมหานคร

Exit mobile version