Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : ครั้งแรกของไทย! “เครื่องมือตรวจโควิดจากกลิ่นเหงื่อ” รู้ผลเร็ว 30 วินาที

เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2564 คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวิจัย “การใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ” ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย!! โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด  

หลักการ คือ ใช้สุนัขสายพันธุ์ลาบราดอร์ และรีทรีฟเวอร์ ที่มีโพรงจมูกยาว มีประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่นที่ไวและดี อุปนิสัยเป็นมิตรและฝึกง่าย มาฝึกฝนดมกลิ่นเหงื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยทีมวิจัยจะเก็บตัวอย่างเหงื่อของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นสารคัดหลั่งที่มีการยืนยันแล้วว่าไม่มีการเจือปนของเชื้อไวรัส

จากนั้นจะซับเหงื่อบริเวณใต้รักแร้ด้วยสำลีและถุงเท้า เก็บไว้ในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพ แล้วนำสำลีและถุงเท้าดังกล่าวมาใส่กระป๋องเพื่อให้สุนัขดมกลิ่น เมื่อสุนัขได้กลิ่นก็จะนั่งลงทันที เพื่อบอกว่าคนๆ นี้ติดเชื้อ แม้จะไม่แสดงอาการ

ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวงานวิจัย “เครื่องมือตรวจโควิดจากกลิ่นเหงื่อ” หรือ เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพา (Portable sweat test for COVID detection) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย!! ผลงานผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ มีค่า นิวส์ จึงพาทุกคนมารู้จักนวัตกรรมดังกล่าวว่ามีที่มา และขั้นตอนการใช้งานอย่างไร

จุดเริ่มต้นของการวิจัย “เครื่องมือตรวจโควิดจากกลิ่นเหงื่อ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล  เปิดเผยว่า  ที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับ “รถดมไว” ลงพื้นที่ตรวจเชื้อโควิด-19 ในชุมชนที่มีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงลองนำตัวอย่างการคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากสุนัขดมกลิ่นมาตรวจดูว่า จริงๆ แล้วสารที่สุนัขแยกแยะได้ว่า ผู้ใดติดเชื้อนั้น คือ สาร หรือ กลิ่นอะไร

จากการศึกษาสารตัวอย่าง พบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีสารเคมีบางชนิดที่ชัดเจนมาก และแปลกไปจากสารอื่นๆ  จึงนำข้อค้นพบนี้ มาพัฒนาเป็นเครื่องมือตรวจกลิ่น ที่น่าจะมาจากสารอะโรมาติก ที่ผลิตจากแบคทีเรียบางชนิดในเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่มีการตรวจเชื้อโควิด-19 จากสารเคมีเหล่านี้

กลิ่นเหงื่อพิสูจน์การติดเชื้อไวรัสได้อย่างไร

กลิ่นเหงื่อในคน อาจมีได้มากกว่า 100 กลิ่น แต่ละคนมีกลิ่นจำเพาะ ที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นที่มาจากแป้ง โรลออน และกลิ่นของแบคทีเรีย ที่กินอาหารในเหงื่อ หรือ สารคัดหลั่งใต้ผิวหนัง แบคทีเรียเหล่านี้จะขับสารออกมาเป็นกลิ่นที่ปนมากับเหงื่อ สำหรับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แบคทีเรียจะตอบสนองต่อเชื้อไวรัสอย่างไม่เป็นปกติ และผลิตบางกลิ่นที่ต่างออกไป ซึ่งจากการศึกษา พบว่ามีหลายกลิ่นสำคัญที่มีลักษณะจำเพาะอาจจะบ่งบอกว่า เป็นกลิ่นของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19

การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยสารเคมีในเหงื่อ

เครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 พัฒนามาจากเครื่องตรวจวัดทางเคมีวิเคราะห์แบบพกพา ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด ซึ่งมีการใช้ตรวจวัดสารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ อยู่แล้ว แต่สำหรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ผศ.ดร.ชฎิล ได้ใส่วัสดุที่เป็นตัวกรองจำเพาะเข้าไปที่ตัวเครื่องมือ เพื่อให้สามารถเลือกตรวจวัดค่าสารสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย ขวดแก้วและแท่งสำลี

ซึ่งผู้ตรวจคัดกรอง จะได้รับกันคนละชุด เวลาตรวจก็นำแท่งสำลีไปหนีบไว้ที่รักแร้ของผู้รับการตรวจ ทิ้งแท่งสำลีไว้ประมาณ 15 นาที จากนั้นนำแท่งสำลีที่ดูดซับเหงื่อแล้วมาใส่ในขวดแก้ว ฆ่าเชื้อขวดแก้วด้วยรังสี UV ก่อนนำมาตรวจวัดด้วยเครื่องมือ ซึ่งขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่จะใช้สายดูดตัวอย่างในปริมาณที่เหมาะสมและใช้ความดันอัดเข้าไปในเครื่องตรวจเพื่อตรวจสอบผล

“ข้อดีของการตรวจด้วยวิธีการนี้ คือ สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อตรวจพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์หรือจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ได้ แม้ว่าเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์” 

อย่างไรก็ตาม กลิ่นสารเคมีในเหงื่อของผู้ติดเชื้อไวรัส จะแสดงผลแตกต่างจากกลิ่นของผู้ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่แล้ว เครื่องมือตรวจกลิ่น น่าจะสามารถรับมือกับสารเคมีที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการกลายพันธุ์ได้ สิ่งที่ต้องทำคือการเปลี่ยนวัสดุกรองให้สัมพันธ์กับไวรัส

รู้ผลเร็ว แม่นยำ ใช้เสริมทีมตรวจคัดกรองโควิดเชิงรุกในชุมชน

จากการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบพกพา กับคนจำนวน 2,000 คน พบว่า เมื่อทำการทดลองตรวจกลิ่นเพื่อคัดกรองผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 นี้ ควบคู่กับการตรวจ PCR (Polymerase Chain Reaction) จะพบว่า ผลการตรวจสอดคล้องสัมพันธ์กันโดยมีความไว 95% และความจำเพาะถึง 98% อย่างไรก็ดี หากเครื่องตรวจกลิ่นแสดงผลเป็นบวก ผู้รับการตรวจก็ควรไปตรวจแบบ PCR เพื่อยืนยันผลที่แน่นอนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่องมือตรวจกลิ่นเหงื่อผู้ติดเชื้อโควิดแบบพกพา ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา แต่ก็ได้ทดลองใช้งานจริงแล้ว โดยทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ร่วมมือกับกรมควบคุมโรค และหน่วยงานภาครัฐเข้าไปตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อในแหล่งชุมชนต่างๆ และยังทำงานร่วมกับ “รถดมไว” เพื่อช่วยตรวจคัดกรองแทนสุนัขดมกลิ่นในช่วงที่สุนัขพักเหนื่อยได้อีกด้วย

นับว่า เครื่องมือนี้ เป็นนวัตกรรมที่ดีมากๆเลยนะคะ หากงานวิจัยพัฒนาจนถึงที่สุด มีค่า นิวส์เชื่อว่า จะช่วยหนุนการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนและคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละวันได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

ขอบคุณข้อมูล : https://www.chula.ac.th/highlight/49578/

https://www.chula.ac.th/news/44526/

Exit mobile version