Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“ตลาดที่อยู่อาศัย” ชะลอตัว คาดใช้เวลาฟื้นฟูถึงปี 2568

“ตลาดที่อยู่อาศัย” ชะลอตัว คาดใช้เวลาฟื้นฟูถึงปี 2568

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)  เปิดเผยว่า ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 ประเทศไทยยังประสบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งค่อนข้างรุนแรงมากขึ้้นกว่าในไตรมาสแรก ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ถดถอยต่อเนื่่อง ยังไม่มีความชัดเจนถึงการฟื้นตัว

ศูนย์ข้อมูลฯ จึงได้เฝ้าสังเกตการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง พบว่า ความกังวลต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลโดยตรงต่อการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ และการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย โดยภาพรวมของทั้งประเทศ รวมถึงภาพรวมของ 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่าการเพิ่มขึ้นของอุปทานใหม่ลดจำนวนลงอย่างมาก และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

โดยในส่วนของหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรทั่วประเทศ ปี 2564 ยังคงชะลอตัว เพื่อรอช่วง COVID-19 คลี่คลาย โดยครึ่งแรกปี 2564 หน่วยที่ได้อนุญาตจัดสรรลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 แนวโน้มลดต่อเนื่องในไตรมาส 3 แต่กระเตื้องขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 ประกอบด้วย

สถานการณ์ด้านอุปทานครึ่งแรกและแนวโน้มปี 2564

1.การขยายตัว COVID-19 ระลอก  3 – 4 ทำให้ผู้ประกอบการ ลดปริมาณการขอจัดสรรลงอย่างมาก

2.การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศลดลงต่อเนื่องจากปี 2563 โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีการออกใบอนุญาตจัดสรรประมาณ 30,514 หน่วย ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ทุกไตรมาส

3.การเปิดตัวโครงการใหม่ เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล พบว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ต่อเนื่องจากปี 2562 โดยการชะลอตัวของหน่วยเปิดตัวใหม่ อาจเป็นผลจากยอดขายที่ชะลอตัว และหน่วยเหลือขายสะสมในตลาด และกำลังซื้อของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง 

สถานการณ์ด้านอุปสงค์ครึ่งแรกและแนวโน้มปี 2564

1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลกระทบจากยอดขายที่ลดลงในปี 2562 – 2563 สะท้อนผ่านการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2564 อย่างชัดเจน โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ภาวการณ์โอนกรรมสิทธิ์มีอัตราการขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยในไตรมาส 2 ปี 2564 หน่วยและมูลค่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ถึงร้อยละ -31.2 และร้อยละ -16.5 ตามลำดับ และมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อเนื่อง ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า แต่จะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งคาดว่าจำนวนหน่วยและมูลค่าจะปรับตัวสูงขี้นไปใกล้กับค่าเฉลี่ย

2.การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศสะสมครึ่งแรกปี 2564 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ-28.8 มูลค่าลดลงร้อยละ -10.7

3.การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ช่วงครึ่งแรกปี 2564 ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวน -10.1 ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2

4.ข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศ 4.098,805 ล้านบาท

ดังนั้น ศูนย์ข้อมูลฯ จึงมีมุมมองว่า ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 จะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับสู่สภาวะสมดุลทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทานมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยจะกลับเข้าสู่ภาวะที่ก่อนเกิด COVID-19 ในราวปี 2568 – 2570 หรือ ประมาณ 5-6 ปีข้างหน้า

Exit mobile version