Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“กล่องบุญ&รอด” ช่วยแรงงานข้ามชาติ กลุ่มเปราะบางติดโควิด

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานโครงการ TBS CONNECT อิ่ม&บุญ โดยสมาคมนักศึกษาเก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS) มอบ “กล่องบุญ&รอด” ให้แก่มูลนิธิรักษ์ไทย ในฐานะเครือข่ายของกลุ่มอาสาไทยแคร์ (Thai.care) เพื่อนำไปมอบให้แรงงานข้ามชาติ และกลุ่มเปราะบางที่ติดเชื้อโควิด-19 และต้องแยกกักตัวในพื้นที่จังหวัดนครปฐม  ณ มูลนิธิรักษ์ไทย กรุงเทพ 

คุณอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะทำงานโครงการ TBSA CONNECT อิ่ม&บุญ  กล่าวว่า ระดมพลังบริจาคทั้งเงินและสิ่งของจากทั้งศิษย์เก่าคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี , คณะอื่นๆของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , พี่น้องต่างสถาบันตลอดจนประชาชนทั่วไป ผ่านทาง สมาคมฯ (TBS)

จัดทำเป็น “กล่องบุญ&รอด” มอบให้กับผู้ป่วย ที่ยังไม่สามารถเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาลได้ ซึ่งทางสมาคมฯ เล็งเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยเหล่านั้นอยู่อย่างสิ้นหวังเดียวดายและโดดเดี่ยว จึงจัดทำ ”กล่องบุญ&รอด” ภายในบรรจุเครื่องอุปโภค บริโภค และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ดังนี้

1. ยาลดไข้ พาราเซตามอล

2. ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก

3. ยาแก้ไอและละลายเสมหะ

4. ยาฟ้าทะลายโจร

5. แอลกอฮอล์น้ำใช้ฆ่าเชื้อโรค

6. หน้ากากอนามัยผู้ใหญ่

7. เครื่องวัดออกซิเจน

8. แบตเตอรี่ AAA

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า สช.เป็นกลไกเชื่อมประสานหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ และหน่วยงานที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อกระจายไปยังกลุ่มผู้ป่วย ซึ่งการสนับสนุน “กล่องบุญ&รอด” สช. ได้ประสานมูลนิธิรักษ์ไทย รับมอบและกระจายไปยังกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่ได้รับการดูแลอยู่ ณ ศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่ยังขาดอุปกรณ์ และปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตในช่วงโควิด-19 ได้ใช้ในการดูแลตนเองอย่างปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี นับเป็นการประสานความร่วมมือของหลายภาคส่วนเพื่อต่อสู้วิกฤติโควิด-19 โดยมุ่งเน้นกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ อันเป็นประชากรกลุ่มเปราะบางในวิกฤติการแพร่ระบาดครั้งนี้

ขณะที่ นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท หัวหน้ากลุ่มสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ แนะนำเครือข่ายไทยแคร์ (Thaci.care) ระบุว่า เป็นแพลตฟอร์มประสานงานความช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เป็นโรงพยาบาลเสมือน (Virtual Hospital) สู่การขยายไปยังแพลตฟอร์ม “Thai.care ดูแลชุมชน” ที่เป็นการสร้าง Community Care ให้กับชุมชนแรงงานข้ามชาติ โดยวางแผนเริ่มต้นที่จังหวัดนครปฐม และเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

ขอบคุณรูป : เฟซบุ๊ก Thammasat Business School

Exit mobile version