Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“กองทุนผู้สูงอายุ” คุ้มครอง สนับสนุน ให้เงินทุนวัยเก๋า

หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ conference เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2564 โดยในที่ประชุมเห็นชอบ 3  มาตรการ อ่านย้อนหลังที่ https://mekhanews.com/2021/07/30/elderly-hey-prepare-to-receive-assistance-extending-the-debt-moratorium-program-for-6-months-repaying-the-double-pension/

หนึ่งใน 3 มาตรการ คือ การขยายโครงการพักชำระหนี้ให้กับผู้สูงอายุ ที่เป็นหนี้ “กองทุนผู้สูงอายุ” และจะครบกำหนดสิ้นสุดโครงการ วันที่ 30 กันยายน 2564 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ต่ออายุพักชำระหนี้ผู้สูงอายุไปอีก 6 เดือน จนถึงเดือนมีนาคมปี 2565 มีค่า นิวส์ จึงจะพาผู้สูงอายุทุกคนมาทำความรู้จักกับ “กองทุนผู้สูงอายุ” กันค่ะ เพื่อจะได้รู้ว่า ถ้าจะสมัครเข้าร่วมกองทุน จะมีขั้นตอน หลักเกณฑ์อย่างไร

กองทุนผู้สูงอายุ” คืออะไร ?

กองทุนผู้สูงอายุ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ปัจจุบันสังกัด กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัตินี้

“กองทุนผู้สูงอายุ” สนับสนุนกิจกรรมหลักๆของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย

1.สนับสนุนโครงการการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ โดยมีลักษณะโครงการ ที่จะได้รับการสนับสนุนเงินกองทุน

– มีวัตถุประสงค์และกระบวนการในการดำเนินงานชัดเจน

– สร้างการมีส่วนร่วมของบุคคล หรือ หน่วยงาน หรือ ประชาชน

– โครงการของหน่วยงานภาครัฐควรเป็นโครงการใหม่และเร่งด่วนที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณรองรับและไม่เป็นโครงการต่อเนื่อง

– เป็นโครงการขององค์กรเอกชน หรือ องค์กรของผู้สูงอายุ ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากส่วนราชการ และแหล่งทุนอื่นๆ เว้นแต่กรณีได้รับแต่ไม่เพียงพอ

2.ให้บริการกู้ยืมเงินประกอบอาชีพ โดยมีคุณสมบัติของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน ดังนี้

2.1 ผู้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ

– มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

– มีความจำเป็นขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพ

– มีความสามารถในการประกอบอาชีพ

– มีสภาพร่างกายแข็งแรงประกอบอาชีพได้

– มีปัจจัยในการสนับสนุนการประกอบอาชีพ

– มีสถานที่ประกอบอาชีพอยู่จังหวัดเดียวกันกับที่ยื่นขอกู้ยืม

– ไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ

2.2 ผู้ค้ำประกันกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ

– อายุไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์

– เป็นผู้มีรายได้หรือเงินเดือนประจำ

– มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์อยู่จังหวัดเดียวกันกับผู้กู้ยืม

– ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้กู้ยืม

– ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบุคคลอื่นที่ขอกู้ยืม

3.การสนับสนุนเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยในโครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

4.ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรมแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ถูกทอดทิ้ง รวมทั้งประสบปัญหาความเดือดร้อน เรื่องที่พัก อาหารและเครื่องนุ่งห่ม

5.สนับสนุนเงินอุดหนุนองค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำแนะนำปรึกษา หรือดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี รวมทั้งการแก้ไขปัญหาครอบครัวเป็นรายคดี

6.เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์สูงสุดตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546

วิธีสมัครเข้าร่วม “กองทุนผู้สูงอายุ”

1.ผู้สูงอายุที่มีภูมิลำเนา หรือ ที่ตั้งของสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นต่อกรมกิจการผู้สูงอายุ

2.ผู้สูงอายุมีภูมิลำเนา หรือ ที่ตั้งของสำนักงานอยู่ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

เอกสารประกอบ หากต้องการยื่นคำร้อง / ร้องเรียน

1.บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้กู้ – ผู้ค้ำ)

2.ทะเบียนบ้าน (ผู้กู้ – ผู้ค้ำ)

3.หนังสือรับรองเงินเดือนผู้ค้ำประกัน

4.” ใบสำคัญการสมรส หรือ ใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี)

5.ใบมรณะบัตรกรณีคู่สมรสเสียชีวิต (ถ้ามี)

6.ใบเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)

หมายเหตุ : กรณีผู้ยื่นคำร้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ควรมีใบรับรองแพทย์และรูปถ่ายเต็มตัวขณะประกอบอาชีพด้วย

เอกสารประกอบ หากต้องการกู้ยืมเงินทุน เพื่อประกอบอาชีพ

1.ให้กู้ยืมเงินรายบุคคล ได้คนละไม่เกิน 30,000 บาท

2.ให้กู้ยืมเป็นรายกลุ่มๆ ละไม่น้อยกว่า 5 คน ได้กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท

หมายเหตุ : การกู้ยืมรายบุคคลและรายกลุ่มต้องชำระคืนเป็นรายงวดภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย

หากกู้ยืมเงินกองทุนมาแล้ว จะชำระหนี้อย่างไร

ผู้สูงอายุสามารถชำระหนี้ กองทุนได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

1.ชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ร้านสะดวกซื้อ (7-11)

– เข้าไปติดต่อชำระเงินกับพนักงานหน้าเคาน์เตอร์

– ยื่นบัตรประชาชน หรือ แจ้งหมายเลขบัตรประชาชน เพื่อแจ้งชำระเงิน

 – ตรวจสอบความถูกต้อง ของจำนวนเงินที่หน้าจอ

– พนักงานรับชำระเงินและออกใบเสร็จให้ทันที (โปรดเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เพื่อเป็นหลักฐาน)

2.ชำระผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT มี 2 วิธี

วิธีที่ 1 ชำระผ่านการสแกนบาร์โค้ด

– เข้าแอปฯ Krungthai NEXT และ กดปุ่ม “สแกน”  ด้านล่างตรงกลาง

– ใช้กรอบสแกนที่บาร์โค้ดที่สัญญากู้ยืมเงิน กองทุนผู้สูงอายุ

– จะปรากฏ “เลขที่บัตรประชาชนของลูกหนี้” และ “เลขจ่ายเงิน” กด “ยืนยัน”

วิธีที่ 2 ชำระผ่านเมนู จ่ายบิล

– เข้าแอปฯ Krungthai NEXT และ กด “จ่ายบิล” ค้นคำว่า “กองทุนผู้สูงอายุ”

– กดเลือกรายการ “รับชำระหนี้กองทุนผู้สูงอายุ (รหัส 95318 )” กรอก “เลขที่บัตรประชาชนของลูกหนี้” และ “เลขจ่ายเงิน”

– กด “ตรวจสอบยอด” กด “ถัดไป” กด “ยืนยัน” ในการชำระเงิน กด “เสร็จสิ้น”

ทั้งนี้ ตามที่ มีค่า นิวส์  กล่าวไปข้างต้นว่า ขณะนี้ ได้มีโครงการให้ผู้สูงอายุ ขอพักชำระหนี้กองทุนด้วย ซึ่งผู้สูงอายุที่เป็นลูกหนี้ของกองทุน สามารถแจ้งความจำนงขอพักชำระหนี้ได้ ดังนี้

1.ผู้กู้ยืมแสดงเจตจำนง ขอผ่อนชำะหนี้ด้วยตนเอง พร้อมผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนผู้สูงอายุ หรือ พมจ.ทุกจังหวัด

2.กรณีไม่สะดวกมาติดต่อด้วยตนเอง ผู้ยืมแสดงความจำนง ขอแบบผ่อนเวลาชำระหนี้ผ่านทางโทรศัพท์ กองทุนผู้สูงอายุ หรือ พมจ.จะจัดส่งเอกสารไปยังที่อยู่ที่แจ้งไว้ เพื่อให้ผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน และพยานลงนามในเอกสาร พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนรับรองสำเนาถูกต้อง และส่งเอกสารกลับมายัง กองทุนผู้สูงอายุ หรือ พมจ. หรือสามารถดาวน์โหลด แบบฟอร์ม ได้ที่เว็บไซต์กองทุนผู้สูงอายุ www.oldarfund.dop.goth  (ตัวอย่างแบบฟอร์มตามรูปด้านล่าง)

ที่มา : กรมกิจการผู้สูงอายุ

Exit mobile version