Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

รายงานพิเศษ : “พืชกระท่อม” ปลดล็อกแล้ว ปลูกขายเสรีได้แค่ไหน ?

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นวันดีเดย์ ที่ประเทศไทย จะสามารถปลูก บริโภค “พืชกระท่อม” ตามวิถีชาวบ้าน หรือ จะซื้อจะขายใบกระท่อม ภายในประเทศได้โดยไม่ผิดกฎหมาย มีค่า นิวส์ จึงจะพามารู้จัก “พืชกระท่อม” พร้อมกับไขข้องใจที่ว่า หาก “พืชกระท่อม” ปลดล็อกแล้ว จะสามารถปลูกขายเสรีได้แค่ไหน   

สำหรับการปลดล็อค “พืชกระท่อม” นั้น สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ โดยมีสาระสำคัญ ให้ยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับ “พืชกระท่อม”  รวมถึงข้อจำกัดบางประการทางการแพทย์

กระทั่งคณะรัฐมนตรี อนุมัติเห็นชอบในหลักการนี้ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ก่อนที่ราชกิจจานุเบกษา จะออกประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2564 ปลด “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากออกประกาศแล้ว 90 วัน หรือ วันที่ 24 ส.ค.2564

พร้อมกันนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้มีมาตรการควบคุมการใช้ “พืชกระท่อม” หลังยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และผ่านการเห็นชอบไปเมื่อวันที่  1 มิถุนายน 2564  โดยร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ที่ผ่านการเห็นชอบ มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.การปลูก “พืชกระท่อม” การขาย การนำเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม เพื่อประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ต้องได้รับใบอนุญาต

2.อายุใบอนุญาต โดยใบอนุญาตปลูก “พืชกระท่อม” ใบอนุญาตขายใบกระท่อม มีอายุ 5 ปี ส่วนใบอนุญาตนำเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อมมีอายุ 1 ปี

3.คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต เช่น

– เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย และมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

– ไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาต หรือ อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ใบอนุญาต

4.ผู้รับใบอนุญาตปลูก “พืชกระท่อม” มีหน้าที่ต้องเพาะ หรือ ปลูกในที่ดิน หรือ สถานที่ และพิกัดตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

5.ผู้รับใบอนุญาตขายใบกระท่อม นำเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม มีหน้าที่ต้องจัดให้มีป้ายแสดงว่า เป็นสถานที่ขาย นำเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม จัดให้มีฉลากและเอกสารกำกับใบกระท่อม โดยอย่างน้อยต้องระบุแหล่งที่มาของใบกระท่อม คำเตือน หรือ ข้อควรระวัง

5.ห้ามผู้ใดขายใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรือ อาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือ ส่วนประกอบแก่บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

6.กรณีมีการขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ หรือ สวนสนุก หรือขาย โดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

7.ห้ามผู้ใดบริโภคใบกระท่อม หรือ น้ำต้มใบกระท่อม ที่ปรุงผสมกับยาเสพติดให้โทษ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

8.ผู้ปลูก “พืชกระท่อม” ขายใบกระท่อม เกินปริมาณที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง หรือ นำเข้า หรือ ส่งออกใบกระท่อม โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ เรื่องการปลูก และการขออนุญาต นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่จำกัดจำนวนต้น และไม่ต้องขออนุญาต จะเปิดให้ปลูกแบบฟรีสไตล์ แต่หากจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ส่วนการใช้และการขาย ก็มีข้อห้ามว่า ห้ามขายให้กับเด็กและสตรีมีครรภ์ รวมทั้งการห้ามนำไปผสมกับสารเสพติดชนิดอื่น และจะมีการควบคุมในการทำเป็นสินค้าส่งออก เพื่อให้มีคุณภาพและราคาไม่ตก ตรงนี้จะเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่

รวมทั้ง จะมีการปล่อยตัวผู้กระทำความผิด ตามกฎหมาย ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 จำนวน 1,038 ราย โดยจะถือว่าไม่เคยกระทำความผิด สำหรับผู้ถูกจับกุมหรือจำเลยในชั้นต่างๆ จะได้ดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อมต่อไป

"ส่วนรายละเอียดต่างๆ ทั้งเรื่องขั้นตอนการขอใบอนุญาตการซื้อขายในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม การส่งออก ต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อมประกาศใช้ก่อนขณะนี้ยังอยู่ระหว่างส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบ"

สำหรับ “พืชกระท่อม”‘ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna Speciosa Korth เป็นไม้ยืนต้น เป็นพืชธรรมชาติ มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบมากบริเวณภาคใต้ของไทย และตอนบนของประเทศมาเลเซีย บ้านเราเรียกชื่ออื่นๆ ว่า ท่อม อีถ่าง กระทุ่มโคก คอยโคน นิยมเคี้ยวใบสด หรือ ต้มเป็นชา กระตุ้นให้ทำงานโดยไม่เมื่อยล้า ในกลุ่มชาวสวน ชาวนา

ประโยชน์ที่ได้รับหากยกเลิก “พืชกระท่อม” ออกจากยาเสพติด

1.ด้านการแพทย์

– เนื่องจากมีสารไมตราเจนีน ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้บรรเทาอาการไอ แก้ปวดเมื่อย ท้องเสีย ช่วยให้กระปรี้กระเปร่า สามารถนำไปใช้บรรเทาอาการปวด แทนมอร์ฟีนได้

– นำไปใช้บำบัดผู้ติดยาเสพติด

2.ด้านเศรษฐกิจ

– สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

3.ด้านสังคม

– ลดคดีเกี่ยวกับกระท่อม และช่วยประหยัดงบประมาณรัฐไปได้อีกทาง

ท้ายที่สุด มีค่า นิวส์ อยากชวนทุกคนติดตามทิศทางนับจากนี้ของการปลดล็อก “พืชกระท่อม” จะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ยังมีเรื่องรายละเอียดต่างๆ รวมถึงข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน เอาเป็นว่า มารอติดตามข่าวสารและความคืบหน้าจากหน่วยงานต่างๆ ไปพร้อมกันนะคะ ถ้ามีอัพเดท มีค่า นิวส์ ไม่พลาดนำเสนอให้ทราบแน่นอนค่ะ

ที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/035/T_0001.PDF

https://www.facebook.com/Rachadaspoke/posts/530922371601265

https://www.oncb.go.th/pages/18_03_2020_kratom.aspx

https://online.fliphtml5.com/rkuhq/fesp/?fbclid=IwAR25KNejk_G_KnSguC_S3Kp9udmgn3LKf4yuJVkW9OS7RrZEjZ7jP_YT5YQ#p=3

Exit mobile version