ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ซึ่งแผนดังกล่าวอยู่ภายใต้ความร่วมมือของ 4 หน่วยงานหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนา เด็กปฐมวัย โดยมีสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อ่านย้อนหลังที่ https://mekhanews.com/2021/06/16/early-childhood-development-plan/
ล่าสุด ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สกศ.ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยคืบหน้าไปพอสมควร โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก็รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้ที่ประชุมรับทราบแล้ว
พร้อมทั้งส่งหนังสือแจ้งทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดูแล เด็กเล็ก เพื่อให้วางแผนปฎิบัติการในการดำเนินการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ และให้จัดส่งแผนปฎิบัติการมาที่ สกศ. ภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อ สกศ.จะได้ช่วยวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลว่า มีช่องโหว่หรือไม่ อย่างไร
สำหรับแผนฯ ดังกล่าว มีนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย 3 ข้อ (เก่ง ดี มีสุข) มีรายละเอียด คือ
1.เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน อย่างมีคุณภาพ ตามศักยภาพ ตามวัยและต่อเนื่อง
2.การพัฒนาเด็ก ต้องจัดอย่างเป็นระบบ ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน บูรณาการระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระหว่างวิชาชีพที่สัมพันธ์กับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทั้งในระดับชาติ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
3.รัฐและทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันระดมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ทั้งนี้ มียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนฯ ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1.การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย
2.การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย
3.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย
4.การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศเด็กปฐมวัย
5.การจัดทำและปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย
6.การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้
7.การบริหารจัดการสร้างกลไกการประสานงาน ดำเนินงาน และติดตามประเมินผล