Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

“Computer Vision Syndrome” โรคที่คนทำงานติดจอ ต้องระวัง!

นายแพทย์ไพโรจน์  สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ประชาชนมีความจำเป็นต้องทำงานแบบ Work from Home จนอาจทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทำงานเกินเวลา โดยอาจจะใช้เวลาเกือบทั้งวันจ้องแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ถ้าไม่แบ่งเวลาการทำงานให้เหมาะสม ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ เสี่ยงเป็นภาวะ “Computer Vision Syndrome” (คอมพิวเตอร์วิชชั่นซินโดรม)

“ทำให้ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง ตาล้า แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือ บางครั้ง ปวดหลัง ปวดไหล่ หรือ ปวดต้นคอร่วมด้วย และส่งผลต่อการนอนหลับได้ จากการศึกษาพบว่าประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน มักเคยประสบกับกลุ่มอาการนี้”

แม้ว่ากลุ่มอาการนี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตา หรือ การมองเห็น แต่มักก่อให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงาน หรือ การใช้ชีวิตประจำวันได้ ส่วนสาเหตุ อาจเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การกระพริบตาลดลงขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้ตาแห้ง แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม เป็นต้น

สำหรับวิธีป้องกัน หรือ หลีกเลี่ยงภาวะ “Computer Vision Syndrome” ได้แก่

1.กะพริบตาให้บ่อยขึ้น การนั่งจ้องหน้าจอนานๆ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ หรือ สมาร์ทโฟน จะทำให้อัตราการกะพริบตาลดลงจาก 20 – 22 ครั้งต่อนาที เหลือเพียง 6 – 8 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น  ซึ่งอาจทำให้ตาแห้งได้ ดังนั้น จึงควรกะพริบตาให้บ่อยขึ้น หรืออาจใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตาก็ได้เช่นกัน

2.ปรับความสว่างในห้องทำงาน  และหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยลดแสงสว่างจากภายนอก หรือแสงจากในห้องทำงานที่สว่างมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงสะท้อนที่จอคอมพิวเตอร์ ทำให้ไม่สบายตาได้ และปรับเพิ่มความแตกต่างของสีระหว่างตัวอักษรกับพื้นจอภาพเพื่อให้อ่านง่าย และปรับความสว่างของหน้าจอให้สบายตา 

3.พักสายตาทุก ๆ ชั่วโมง โดยยึดหลัก “20 – 20 – 20” คือ การละสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุตทุก ๆ 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง จะช่วยลดอาการตาล้าได้

4.ปรับระดับการมองจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม โดยจุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างจากตาประมาณ 20-28 นิ้ว และต่ำลงจากระดับสายตาประมาณ 4-5นิ้ว

5.ใส่แว่นแก้ไขสายตาที่เหมาะสม เนื่องจากการมีสายตาที่ผิดปกติ แล้วต้องเพ่งหน้าจอนานๆ อาจทำให้ปวดกระบอกตา

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวัน ประชุมออนไลน์จนดึกดื่น และไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ที่บ้านไปอีกนานเท่าไหร่ แนะนำดูแลสุขภาพตัวเอง จัดตารางการทำงาน และชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม หากรู้สึกว่าดวงตามีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ตรวจเช็คดวงตา เพื่อที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที

Exit mobile version