พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 30 ส.ค. – 5 ก.ย. 64 กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์อากาศว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีฝนตกหนัก 60 – 70% ของพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมรับมือและเฝ้าระวังน้ำท่วมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบระบายน้ำหลักในพื้นที่ กรุงเทพมหานครได้มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ห่างไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว
ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีอุโมงค์ระบายน้ำแล้ว 4 แห่ง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 1 แห่ง และหากกรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่อีก 4 แห่ง ครบตามแผนงานที่จะดำเนินการในปี 2563 และ 2564 กรุงเทพมหานครจะมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งสิ้น 9 แห่ง
ซึ่งจะช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ทั้งจากน้ำฝนที่ตกในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่นอกคันป้องกันครอบคลุมพื้นที่สำคัญของกรุงเทพมหานครได้เกือบทั้งหมด
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งในปี 2564 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในความดูแลของสำนักการระบายน้ำ ลดลงจากปี 2563 โดยมีจุดเสี่ยงน้ำท่วม 12 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 47 จุด
จึงได้กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการแจ้งเตือนประชาชนเป็นระยะตั้งแต่ก่อนฝนตก ระหว่างฝนตก และหลังฝนตก เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมในการรับมือฝน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกหนักอาจจะต้องมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงป้องกันสิ่งของได้รับความเสียหาย
นอกจากนี้ ได้กำชับให้เร่งระบายน้ำในจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งหากการระบายน้ำเข้าสู่ระบบระบายน้ำหลักไม่สามารถทำได้เต็มกำลังก็ให้เร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำรองหรือจุดย่อยแทนเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็วขึ้น ช่วยลดผลกระทบให้ประชาชน
สำหร่บแนวทางดำเนินการของแผนเผชิญเหตุอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีดังนี้
- การประเมินความเสี่ยง จุดเสี่ยง และลดกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งจากน้ำหลากและฝนตกหนัก
- ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และบัญชีศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับการอพยพ
- ข้อมูลการเตรียมความพร้อมของระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบระบายน้ำ และศักยภาพในการแก้ไขสถานการณ์
- ข้อมูลบุคลากรและอุปกรณ์สนับสนุนการเผชิญเหตุอุทกภัย
- ACTION PLAN สำหรับเหตุที่จะเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ ตามระดับความรุนแรง
- แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เสี่ยงในถนนสายหลักและถนนสายรอง
- การสื่อสาร แจ้งเตือน ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัย
ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น