แน่นอนว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า สถานการณ์จะดีขึ้น และสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำให้ภาคการผลิตและส่งออก ตามโรงงานใหญ่ๆ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจในขณะนี้ ได้รับผลกระทบ ทั้งมีพนักงานติดเชื้อโควิด-19 และไม่สามารถดำเนินกิจการได้
มีค่า นิวส์ จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโครงการ “Factory Sandbox” ที่ถือเป็นมาตรการหลักในตอนนี้ ที่จะช่วยโอบอุ้มเศรษฐกิจ ภาคการผลิตและส่งออกของประเทศไทย หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 มีมติเห็นชอบในมาตรการนี้ และให้ดำเนินการพร้อมกับมาตรการ Bubble & Seal
โครงการ Factory Sandbox คืออะไร ?
โครงการ Factory Sandbox หรือ โครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน เป็นแนวคิดในการจัดการโครงสร้างและกระบวนการในลักษณะ “เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข” ที่มุ่งเป้าดำเนินการควบคู่กันระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ จะมุ่งเป้าไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่ 4 ส่วน ได้แก่ 1.ยานยนต์ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.อาหาร 4.อุปกรณ์การแพทย์ อ่านความหมายย้อนหลังได้ที่ https://mekhanews.com/2021/08/19/the-factory-sandbox-project-is/
ขับเคลื่อนโดย 4 หน่วยงาน
1.กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการ Factory Sandbox
2.หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินการฯ
3.ศบค.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการ และโรงงานอุตสาหกรรม
แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ดำเนินการใน 4 จังหวัด (นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และชลบุรี)
ระยะที่ 2 ดำเนินการใน 3 จังหวัด (พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ)
แผนดำเนินงาน 4 ขั้นตอน (ตรวจ รักษา ดูแล ควบคุม)
1.ตรวจดำเนินการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR แรงงานในสถานประกอบการทุกคน เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันทีและดำเนินการตรวจโดยชุดตรวจ ATK ทุกสัปดาห์
2.รักษาสถานประกอบการจัดให้มีสถานพยาบาลขึ้น ประกอบด้วย
– สถานแยกกักตัว (Factory Isolation: FAI) และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว
– โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยสีเหลือง
– ICU สำหรับผู้ป่วยสีแดง
3.ดูแลดำเนินฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ให้แรงงาน โดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้อง และออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน
4.ควบคุม ให้สถานประกอบการดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT)
เงื่อนไขโรงงานที่สามารถเข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox
1.สถานประกอบกิจการที่ผลิตเพื่อการส่งออก
2.อยู่ในจังหวัด ชลบุรี นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี อยุธยา ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ
3.มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
4.ต้องดำเนินการ FAI (Factory Accommodation Isolation) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5
5.ดำเนินการ Bubble and Seal โดยกำหนดให้ลูกจ้างเดินทางกลับที่พักโดยตรงไม่แวะระหว่างทาง และอยู่แต่ในเคหะสถานเท่านั้น
6.ตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR จำนวน 1 ครั้งให้ลูกจ้างทั้งหมด และตรวจแบบ Self-ATK (Antigen Test Kit) ทุก 7 วัน
7.ฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างที่ตรวจ Swab Test ทุกคน ยกเว้นคนที่ติดเชื้อฯ ให้เข้ารับการรักษา ส่วนค่าบริการฉีดวัคซีนสถานประกอบการต้องเป็นผู้จ่ายให้แก่สถานพยาบาล
8.สถานประกอบการทำหนังสือยินยอมดำเนินการตามแนวทางของสถานกระทรวงแรงงานและจังหวัด
“สถานประกอบกิจการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Factory Sandbox สามารถติดต่อที่ (hand pointing right) สำนักงานแรงงานจังหวัด ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่”
ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ Factory Sandbox มีดังนี้
1.รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในภาคการผลิตส่งออก ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 700,000 ล้านบาท
2.ป้องกันคลัสเตอร์โรงงานจากการติดเชื้อ สร้างสมดุล ระหว่างมาตรการทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ ของประเทศให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้
3.สร้างความเชื่อมั่นให้กับ นักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่ง ณ ปัจจุบันระบบ Supply Chain ของประเทศคู่แข่งกำลังปิดตัวลง
4.รักษาระดับการจ้างงาน ในภาคการผลิตส่งออกสำคัญได้กว่า 3 ล้านตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม มีค่า นิวส์ ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการ Factory Sandbox พบว่าทางคณะรัฐมนตรี เพิ่งจะรับทราบความคืบหน้าโครงการนี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 พบมีสถานการประกอบการร่วมโครงการ โดยลงนามทำข้อตกลง (MOU) แล้วจำนวน 46 แห่ง และมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง สามารถดูแลผู้ประกันตนได้ 9.2 หมื่นคน โดยถ้ามีความคืบหน้า มีค่า นิวส์ จะติดตามมานำเสนอให้ทุกคนได้ทราบกันอย่างแน่นอนค่ะ
ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงแรงงาน https://www.mol.go.th/