ผู้สูงอายุ หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ ประมาณ 12 ล้านคน ถือเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในประเทศ หรือ เรียกว่า “สังคมสูงวัย” เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท มากน้อยตามช่วงอายุ ยกเว้น ข้าราชการที่ได้เงินบำนาญ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า สิทธิและสวัสดิการของคนอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังมีมากกว่านั้นนะคะมีค่า นิวส์ เลยสรุปมาให้ว่า เมื่อเราถึงวัย 60 ปี จะได้สิทธิสวัสดิการอะไรบ้าง ? และมีขั้นตอนรับสิทธิอย่างไร
1.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จัดสรรให้ผู้สูงอายุทุกคนแบบขั้นบันได คือ
- อายุ 60-69 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บ./เดือน รับเพิ่ม 100 บ./เดือน รวมเป็น 700 บ./เดือน
- อายุ 70-79 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บ./เดือน รับเพิ่ม 150 บ./เดือน รวมเป็น 850 บ./เดือน
- อายุ 80-89 ปี รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บ./เดือน รับเพิ่ม 200 บ./เดือน รวมเป็น 1,000 บ./เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000บ./เดือน รับเพิ่ม 250 บาท/เดือน รวมเป็น 1,250 บ./เดือน
หมายเหตุ : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 เม.ย. 65 อนุมัติจ่ายเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ผู้สูงอายุ โดยจะจ่ายเพิ่มจากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือน ตามช่วงอายุ เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน–กันยายน 2565
2.ลดราคาค่าโดยสาร ปัจจุบันมีการลดค่าโดยสารให้แก่ผู้สูงอายุมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์
– รถโดยสารประจำทาง ลดค่าโดยสาร 50% โดยแสดงบัตรประชาชนทุกครั้งที่ใช้บริการ
– รถไฟใต้ดิน MRT ลด 50% ของค่าโดยสารปกติในทุกเส้นทาง
– รถไฟ จะได้รับส่วนลด 50% ของราคาค่าโดยสาร ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 30 กันยายน ของทุกปี
– รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซื้อบัตร Senior Citizen Smart Pass จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50%
– เรือลดค่าโดยสาร 50% โดยแสดงบัตรประชาชนทุกครั้งที่ใช้บริการ
– เครื่องบิน บางกอกแอร์เวย์ ผู้สูงอายุจะได้รับส่วนลด 10% จากราคาบัตรโดยสารราคาปกติ สำหรับทุกเส้นทางบิน ทั้งภายในและระหว่างประเทศ
3.ลดหย่อนภาษี บุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา สามารถขอลดหย่อนภาษี จำนวน 3 หมื่นบาทต่อผู้สูงอายุ 1 คนต่อปี
4.ซ่อมแซมบ้าน ปรับสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมและปลอดภัย กับหน่วยงานบริการ ได้แก่ กรม ผส. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เพื่อพิจารณา และจัดสรรในอัตราเหมาจ่าย 22,500 บาท หรือ 40,000 บาท
5.กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ ผู้สูงอายุที่ยังสามารถประกอบอาชีพได้ แต่ไม่มีเงินทุน สามารถยื่นกู้ยืมเงินปลอดดอกเบี้ยจากกองทุนผู้สูงอายุได้ ดังนี้
– รายบุคคล ได้วงเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อคน
– รายกลุ่ม ไม่น้อยกว่า 5 คน ได้วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท ผ่อนชำระ โดยำม่เสียดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี
6.สิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง อย่างพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ฯลฯ ได้จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ อาทิ ลิฟท์ ราวบันได ทางลาด ที่จอดรถ ห้องน้ำ ฯลฯ
7.สิทธิทางอาชีพ ภาครัฐโดย กรมการจัดหางาน สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร จัดบริการให้คำปรึกษา แนะนำ และรับสมัครงานสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดอบรมฝึกอาชีพให้กับผู้สูงอายุ
8.สิทธิทางการศึกษา ปัจจุบันสำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ ได้พัฒนาหลักสูตรบริการทางการศึกษา เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
9.สิทธิทางการแพทย์ ผู้สูงอายุสามารถเข้ารับบริการและดูแลสุขภาพต่างๆ ผ่านช่องทางพิเศษ จัดเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก บำบัดฟื้นฟู และการดูแลระยะท้าย เป็นตัน และยังมีดารจัดการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง
10.การช่วยเหลือทางกฎหมาย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม มีบริการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ และดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ เช่น สนับสนุนเงินค่าใช่จ่ายการจ้างทนาย ค่าทำเนียมขึ้นศาล ค่าวางเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราว เป็นต้น
11.ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ ผู้สูงอายุสามารถเข้าชมฟรี เช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ สวนพฤกษศาสตร์ สวนสัตว์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น
12.มีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคม เปิดให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น สถานกีฬาต่างๆ ชมรมผู้สูงอายุ การถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ เป็นต้น และยังมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยว กีฬา นันทนาการ เช่น
– ไม่คิดอัตราค่าบริการสถานกีฬา ในส่วนสนามฟุตบอล สวนสุขกาพ และศูนย์ฝึกกีฬาในร่มให้ผู้สูงอายุได้รวมกลุ่ม ทำกิจกรรมเช่น รำกระบอง ซี่คง โยคะ เดินวิ่ง ฟิตเนส ให้ผู้สูงอายุได้ลดราคาค่าสมัครสมาชิก 50% และกิจกรรม “เก๊ายกก๊วน ชวนเที่ยว”
13.การสงเคราะห์ช่วยเหลือ มีบริการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม ถูกทอดทิ้ง ถูกหาประโยชน์ ด้วยการนำไปรักษาพยาบาล ดำเนินคดี จัดหาที่พักอาศัยปลอดภัย ฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ
– ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่มไม่เกินวงเงินครั้งละ 3,000 บาทไม่เกิน 3 ครั้ง/คน/ปี
– เงินสงเคราะห์ค่าจัดการศพแก่ผู้สูงอายุที่เสียชีวิต รายละ 3,000 บาท โดยผู้สูงอายุต้องมีคุณสมบัติตามบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
– ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สำหรับผู้สูงอายุ ที่ฐานะยากจน/ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือดูแล/ ไม่มีที่อยู่อาศัย มีความประสงค์เข้าใช้บริการในศูนย์ฯ
ผู้สูงอายุ สามารถศึกษาผ่านสื่อวิดีโอนี้ได้เลยค่ะ เข้าใจง่ายมากๆ แถมน่ารักด้วย หรือ สอบถามการใช้สิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุ ได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน โทร.1300 มีค่า นิวส์ หวังว่า วัยเก๋าทุกคน ดูแล้วจะทำให้เราทราบถึงสิทธิสวัสดิการที่พึงได้รับ และเข้าใจขั้นตอนการรับสิทธิมากขึ้นนะคะ
ขอบคุณข้อมูล และคลิปจาก : กองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมติชนออนไลน์