Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

เตือน! นายจ้าง เลิกจ้างลูกจ้าง เพราะตั้งครรภ์ ติดคุก ปรับเงินสูงสุด 1 แสนบาท

นายจ้าง ไม่มีสิทธิ เลิกจ้างลูกจ้าง เพราะตั้งครรภ์

จากข่าวที่มีลูกจ้างหญิงรายหนึ่ง ในจังหวัดนนทบุรี ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สรพ.5) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ว่าถูกบริษัทเลิกจ้างเพราะตั้งครรภ์ และลูกจ้างมีความประสงค์เรียกร้องเงินตามกฎหมาย ได้แก่ ค่าจ้างจากการทำงาน ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดย สรพ.5 ส่งคำร้องให้ สสค.นนทบุรี ดำเนินการ เนื่องจากเป็นที่ตั้งสถานประกอบกิจการ

มีค่า นิวส์ ทราบจาก นางโสภา เกียรตินิรชา โฆษกกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มอบหมายให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนนทบุรี (สสค.นนทบุรี) ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่า ลูกจ้างคนดังกล่าว ถูกนายจ้างเลิกจ้างเพราะตั้งครรภ์จริง ซึ่งเรื่องนี้ ถือว่า นายจ้างกระทำความผิดฐาน “ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ที่ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์”

พนักงานตรวจแรงงาน จะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม และไม่นำคดีขึ้นสู่ศาล ถือว่านายจ้างได้กระทำความผิดอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับอีกด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กำหนดให้นายจ้าง ต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างหญิงมีครรภ์เป็นพิเศษ ได้แก่

1.การกำหนดลักษณะงานบางประเภทที่ห้ามมิให้ลูกจ้างตั้งครรภ์ทำงาน เช่น งานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือ เครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน งานขับเคลื่อน หรือ ติดไปกับยานพาหนะ งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือ เข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม หรือ งานที่ทำในเรือ เป็นต้น

2.การกำหนดห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างตั้งครรภ์ ทำงานในระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. เนื่องจากต้องได้รับการพักผ่อนในเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอ และต้องไม่ให้ลูกจ้างตั้งครรภ์ทำงานล่วงเวลา หรือ ทำงานในวันหยุดยกเว้น แต่จะเป็นกรณีที่ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ หรือ งานเกี่ยวกับการเงิน บัญชี

อย่างไรก็ตาม นายจ้างอาจจะให้ลูกจ้างตั้งครรภ์ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่กระทบต่อสุขภาพ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน เป็นคราวๆ ไป

Exit mobile version