Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

1 ต.ค.“วันผู้สูงอายุสากล” สปสช. เตือนผู้สูงอายุ ระวัง 6 โรค แนะวิธีใช้บัตรทองดูแล

มีค่า นิวส์ เชื่อว่า อาจจะยังมีหลายคน ที่ยังไม่ทราบว่า วันที่ 1 ต.ค.ของทุกปี เป็น “วันผู้สูงอายุสากล” (International Day of Older Persons) จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับวันดังกล่าว พร้อมส่อง 6 โรคที่ผู้สูงอายุ ต้องระวัง

ประวัติ “วันผู้สูงอายุสากล” องค์การสหประชาชาติ กำหนดขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 1 ต.ค.2534 โดยให้ความหมายคำว่า ผู้สูงอายุ คือ บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปทั้งชายและหญิง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ ที่ได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้กับสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

สำหรับวันที่ 1 ตุลาคม 2564 องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดแนวทางวันผู้สูงอายุสากล ปี 2021 คือ “Digital Equity for All Ages” เป็นปีแห่ง “ความเสมอภาคทุกวัยทางดิจิทัล” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมในโลกดิจิทัลอย่างมีคุณค่า

สำหรับประเทศไทย “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ”  คือ วันที่ 13 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันสงกรานต์ และวันปีใหม่ของไทยอีกด้วย และที่สำคัญ ปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) สิ่งสำคัญ คือ เรื่องสุขภาพ

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เมื่อมีอายุเข้าสู่วัย 50 ปี ร่างกายก็จะเสื่อมลง ซึ่งทำให้มีโรคต่างๆ ตามมามากมาย แต่มีอยู่ 6 โรคที่เราต้องเฝ้าระวังในพ่อแม่ หรือ ญาติผู้ใหญ่ของเราอย่างใกล้ชิด ดังนี้

1. โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลายการทำงานของสมองหยุดชะงัก

2. โรคหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้เลือดที่จะไหลเวียนไปยังหัวใจไม่พอ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรม เช่น การใช้ยาเสพติด ความเครียด และการสูบบุหรี่

3. โรคข้อเข่าเสื่อม เกิดจากความเสื่อมของกระดูกบริเวณข้อต่อซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้มีความเจ็บปวด ข้อต่อผิดรูปเดินได้ไม่ปกติส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

4. โรคความดันเลือดสูง คนทั่วไปจะมีความดันเลือดไม่เกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ที่มีความดันเลือดสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

5. โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากความเสื่อมถอยของโครงสร้างเนื้อเยื่อสมอง มักพบในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมและอาการหลงลืมจนผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด

6. โรคเบาหวาน ภาวะที่ร่างกายมีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลินทำงานไม่ปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงว่า 6 โรคข้างต้น ผู้อายุสามารถใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาได้ รวมถึงการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ สปสช. ดูแลประชาชนทุกสิทธิการรักษา เช่น การประเมินความเสี่ยงต่อโรคการตรวจคัดกรองสุขภาพ พร้อมแนะนำการป้องกัน สามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่ง เพียงยื่นบัตรประชาชนใบเดียวค่ะ

หากมีข้อมูลสงสัยเรื่องการใช้สิทธิบัตรทอง ผู้สูงอายุสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6  เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.pptvhd36.com, https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

Exit mobile version