Site icon Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

สปสช.ชวนผู้เกษียณอายุทำงาน ลงทะเบียนเลือกสถานพยาบาลใช้สิทธิ “บัตรทอง”

สรุปให้!! สิทธิบัตรทอง ลงทะเบียนแบบไหน เพื่อประโยชน์ตอนเกษียณ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ช่วงรอยต่อหลังจากวันที่ 30 กันยายนของทุกปี จะมีผู้เกษียณอายุการทำงานออกจากระบบเป็นจำนวนมาก ทั้งข้าราชการและผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชน ซึ่งจะสัมพันธ์กับสิทธิการรักษาพยาบาลด้วย โดยผู้ที่เป็นข้าราชการเกษียณที่เลือกไม่รับบำนาญ ก็จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เข้ามาช่วยดูแล เช่นเดียวกับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หากไม่ได้ส่งเงินสมทบต่อเนื่องหลังเกษียณอายุการทำงาน ก็จะได้รับการดูแลผ่านระบบบัตรทองเช่นกัน 

สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง นอกจากกลุ่มผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ยังมีอีก 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. เด็กแรกเกิด ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา

2. บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ

3. บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ (สิทธิสวัสดิการข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน)

4. ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ

5. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน โดยคนทั้ง 6 กลุ่มนี้ ถือว่ามีสิทธิบัตรทองตามกฎหมาย

 “ขอให้ผู้มีสิทธิทั้ง 6 กลุ่มนี้ ลงทะเบียนเพื่อเลือกหน่วยบริการประจำในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อเข้ารับการบริการสุขภาพทั้งการรักษาและส่งเสริมป้องกันโรคอย่างครอบคลุมทุกอย่างฟรี”

การลงทะเบียนใช้สิทธิ บัตรทอง ทำได้ใน 3 ลักษณะ ประกอบด้วย

1. การลงทะเบียนรายบุคคล เพื่อเลือกหน่วยบริการหรือขอเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

2. การลงทะเบียนในกลุ่มเฉพาะ เช่น กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่ศึกษาหรือพักในหอพักของสถานศึกษา หรือกลุ่มทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) ดำเนินการโดยกรมการแพทย์ทหาร กระทรวงกลาโหม

3. การลงทะเบียนแทนผู้มีสิทธิโดยมอบให้ สปสช. ดำเนินการ กรณีเด็กแรกเกิด 0-5 ปี, กรณีบุคคลสิ้นสุดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสิ้นสุดประกันสังคม หรือสิ้นสุดสิทธิประกันสุขภาพอื่นที่รัฐจัดให้, กรณีหน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนไว้แล้วถอนตัว หรือพ้นจากการเป็นหน่วยบริการประจำ, กรณีเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ สำหรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้วแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนหน่วยบริการกลับภูมิลำเนา ผู้พ้นโทษต้องขังในเรือนจำ ทหารเกณฑ์ปลดประจำการ, กรณีบุคคลเข้ารับบริการสาธารณสุขเป็นครั้งแรก และยังไม่ได้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ

สำหรับเอกสารสำหรับการลงทะเบียน มีดังนี้

1. บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ หากไม่มีบัตรประชาชนให้ใช้สูติบัตร (ใบเกิด) แทน

2. หนังสือรับรองการพักอาศัย กรณีที่อยู่ไม่ตรงตามบัตรประชาชน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าตนเองนั้นอาศัยอยู่จริง เช่น ใบเสร็จค่าน้ำ ค่าไฟ สัญญาเช่าที่พักฯลฯ

3. แบบคำร้องขอลงทะเบียน โดยขอได้ ณ จุดรับลงทะเบียน

หลังลงทะเบียนแล้ว ผู้ใช้สิทธิสามารถตรวจสอบสิทธิและทราบหน่วยบริการประจำของตนเองได้ 4 วิธี ได้แก่

1. ผ่านแอปพลิเคชัน “สปสช.”

2. ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 2 ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วกด # และกดโทรออก

3. ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

4. ติดต่อด้วยตนเองในเวลาราชการ ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง โรงพยาบาลของรัฐ และ สปสช.เขต 1-12

Exit mobile version