Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ชวนวัยเก๋า วางแผนเกษียณ ทำง่าย มีเงินใช้ สุขใจตลอดชีพ

ประเทศไทยมีเกณฑ์อายุเกษียณที่ 55 ถึง 60 ปี และในทุก ๆ ปี จะมีผู้ที่เกษียณอายุการทำงานจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวค่ะ ซึ่ง เชื่อว่าผู้เกษียณอายุทุกคน ล้วนใฝ่ฝันถึงชีวิตหลังเกษียณ ที่จะได้ใช้ชีวิตสบาย ๆ มีเงินพอใช้จ่าย มีสุขภาพดี มีเวลาว่างสำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นความสุขของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการอยู่บ้านกับลูกหลาน ดูแลสัตว์เลี้ยง ทำสวน ทำงานอดิเรกที่ชอบ เดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน พบปะสังสรรค์กับเพื่อนเก่า หรือ ทำงานช่วยเหลือสังคมตามที่กำลังและโอกาสเอื้ออำนวย​​

มีค่า นิวส์ จึงอยากชวนผู้เกษียณอายุ มาวางแผนเกษียณกัน เน้นทำง่าย มีเงินใช้ สุขใจตลอดชีพ ตามแผน 4 รู้ สู่การเกษียณสุข​ ดังนี้

1. รู้รายรับต่อเดือน แหล่งที่มา และความมั่นคงของรายรับ  เช่น​​

– ข้าราชการจะได้รับบำเหน็จ หรือ บำนาญ และเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ​

– พนักงานบริษัทเอกชน จะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม

– เงินออมที่ได้เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตการทำงาน บวกกับผลประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน ​

2. รู้รายจ่ายต่อเดือน เทียบกับรายรับที่คาดว่าจะได้รับ​

ส่วนใหญ่แล้ว ค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณมักจะลดลง ซึ่งประเมินกันว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะประมาณ 70% – 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น

หากก่อนเกษียณ มีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะประมาณ 21,000 – 24,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินเฟ้อ และค่ารักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้นตามวัย

ดังนั้น การเริ่มต้นบันทึกรายรับ-รายจ่ายเสียตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ และค่าใช้จ่ายรายการใดจะลดลงหรือหมดไป เมื่อเกษียณแล้ว​

3. รู้หลักประกันความมั่นคงทางการเงิน (เงินเก็บ)

อย่างเช่น สวัสดิการที่เบิกได้ และความคุ้มครองของประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันจะไม่กระทบกับจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับใช้จ่ายประจำ หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ครอบคลุมเพียงพอ ควรพิจารณาออมหรือซื้อประกันเพิ่มเติม​

4. รู้ปัจจัยที่อาจมีผลต่อรายรับ-รายจ่าย 

 อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ลูกหลานที่อาจนำพาความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้ เป็นต้น​

สูตรคำนวณเงินที่ต้องมีในวันเกษียณ​​

การประมาณจำนวนเงินที่ต้องมีเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณนั้น แบ่งออกเป็น 2 แนวคิด คือ

1. การใช้เงินออมสำหรับใช้จ่าย

2. การใช้ดอกผลของเงินออมและเงินลงทุนสำหรับใช้จ่าย

หรือ อาจใช้ทั้ง 2 แนวคิดผสมกันก็ได้

แนวคิดที่ 1 :  นำเงินออมมาใช้จ่ายหลังเกษียณ

​ยกตัวอย่างเช่น​ หากประเมินว่าหลังเกษียณ จะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่จนอายุ 80 ปี ดังนั้น จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ         

=  25,000 บาท x 12 เดือน x 20 ปีหลังเกษียณ     

=  6,000,000 บาท​

กรณีนี้จะเป็นการใช้เงินต้นให้หมดไปเรื่อย ๆ

แนวคิดที่ 2 :  นำดอกผลของเงินออมและเงินลงทุนมาใช้จ่ายหลังเกษียณ

ยกตัวอย่างเช่น หากประเมินว่าหลังเกษียณจะใช้จ่ายเดือนละ 25,000 บาท และคาดว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของเงินออมและเงินลงทุนช่วงหลังเกษียณอยู่ที่ 6% ต่อปี  ดังนั้น จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ 

=  (25,000 บาท x 12 เดือน) /6% ต่อปี  

=  5,000,000 บาท

กรณีนี้ เงินต้นจะยังคงอยู่ให้ออกดอกออกผลต่อไป

การออม การลงทุน

– ควรออม ก่อนใช้จ่ายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน โดยออมเงินสำหรับการเกษียณให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้  หากรายได้เพิ่มขึ้นก็ควรออมเพิ่มขึ้น และไม่ควรนำออกมาใช้จนกว่าจะเกษียณ

– ควรแบ่งเงินออมเพื่อเกษียณบางส่วนไปลงทุน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้​

การบริหารเงินหลังเกษียณ

– ควรคงเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้ประมาณ 2 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อให้มีสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน

– นำเงินบางส่วนไปแบ่งฝากประจำในระยะต่าง ๆ  เช่น 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี  โดยเลือกให้มีระยะเวลาครบกำหนดเหลื่อมกัน จะเป็นการบริหารสภาพคล่องและเพิ่มผลตอบแทนให้มากกว่าเงินฝากออมทรัพย์

– ควรนำเงินส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ในระยะสั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอนในระยะปานกลาง-ยาว

ทางเลือกอื่น ๆ ในการลงทุน ​

– ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง เช่น สลากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่น่าลงทุน

– สำหรับผู้ที่มีความชำนาญในการลงทุนและยอมรับความเสี่ยงได้ ​​อาจแบ่งเงินบางส่วน (สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินออมและเงินลงทุนทั้งหมด) ไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หรือ สินทรัพย์ที่เปิดโอกาสรับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่น หุ้น และทองคำ เป็นต้น

– คว​รติดตามข่าวสารและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของเงินออมและเงินลงทุนของคุณอย่างสม่ำเสมอ ทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ  การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเงิน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเงิน รวมถึงภัยทางการเงิน ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อปกป้องเงินทองของตนเองที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาตลอดให้พ้นจากมิจฉาชีพด้วย

– ควรมีวินัยในการใช้จ่ายเพื่อให้มีเงินเพียงพอจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีแรกของการเกษียณ ยังไม่ควรใช้จ่ายเกินกว่าอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ได้รับ

มีค่า นิวส์ มั่นใจว่าถ้าทำตามแผนที่แนะนำ จะทำให้เรามีความสุขในชีวิตหลังจากเกษียณอย่างแน่นอนค่ะ ถ้าผู้ที่เกษียณคนไหนทำตามแล้ว เป็นอย่างไร มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้นะคะ

ดาวน์โหลด “วิธีทำแผนใช้เงิน” ได้ที่ https://www.1213.or.th/th/finresilience/worksheet/wsbudgeting.pdf?fbclid=IwAR3WFHQ_tNTLVQkisTazdUYvER7bBKwwlWPOqiOFzRqxQg5HNyM3bl_EiZA

ที่มา : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.1213.or.th/th/moneymgt/retire/Pages/retire.aspx

Exit mobile version