Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

นายจ้างเอสเอ็มอีรับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างนาน 3 เดือน มีเงื่อนไขยังไง ?

ถาม : นายจ้างเอสเอ็มอีรับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างนาน 3 เดือน มีเงื่อนไขยังไง ?

ตอบ : ต้องเป็นนายจ้างภาคเอกชนที่อยู่ในระบบประกันสังคม (ฐานข้อมูลประกันสังคม ม.33 สถานะ Active) ที่มีลูกจ้างรวมทุกสาขาไม่เกิน 200 คน ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2564
(1) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่นายจ้างตามจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทยจำนวนไม่เกิน 200 คน ที่อยู่ในฐานทะเบียนข้อมูลประกันสังคม มาตรา 33 มีสถานะ Active ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564
(2) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนในอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (พฤศจิกายน 2564 ถึง มกราคม 2565)
(3) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างจริงของทุกเดือน โดยตรวจสอบจากฐานทะเบียนข้อมูลประกันสังคม มาตรา 33 มีสถานะ Active ทุกวันที่ 16 ของเดือน
(4) ระหว่างเข้าร่วมโครงการเดือนที่ 2 และ 3 (ธันวาคม 2564 ถึงมกราคม 2565) นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้
4.1 นายจ้างต้องรักษาระดับการจ้างงาน ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 หากนายจ้างไม่สามารถรักษาระดับการจ้างงานจะไม่ได้รับเงินอุดหนุนในเดือนนั้น ๆ
4.2 ในกรณีที่นายจ้างมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบจากข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 นายจ้างจะได้รับเงินอุดหนุนตามจำนวนการจ้างงานจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนลูกจ้างสัญชาติไทยทั้งหมดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการ ในอัตรา 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 2 เดือน (ธันวาคม 2564 ถึง มกราคม 2565)
(5) นายจ้างจะต้องแจ้งชื่อและหมายเลขบัญชีธนาคารของนายจ้าง (กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคลต้องใช้บัญชีธนาคารซึ่งเป็นชื่อของนิติบุคคลนั้น /นายจ้างบุคคลธรรมดาใช้ชื่อบัญชีของนายจ้าง)
(6) รัฐจ่ายเงินอุดหนุนให้กับนายจ้าง โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากตามที่นายจ้างแจ้งทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน กรณีการรับเงินอุดหนุนผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทย สำหรับธนาคารอื่นนายจ้างจะได้รับเงินอุดหนุนหลังจากวันดังกล่าว จะถูกหักค่าธรรมเนียมการโอนระหว่างธนาคารจากเงินอุดหนุน
(7) นายจ้างที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ส่งเสริมการจ้างงานเอสเอ็มอี.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ก่อน แล้วจึงสมัครใช้บริการระบบ e-Service ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อยื่นแบบรายการแสดงข้อมูลการส่งเงินสมทบ สปส. 1-10 ในระบบ e-Sevice ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป จึงจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการนี้
(8) การขอรับเงินอุดหนุนของนายจ้างจะต้องไม่เป็นเหตุให้นายจ้างชะลอการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง
(9) นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดตามประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง
ที่มา : กระทรวงแรงงาน

Exit mobile version