Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

ร้านขายของชำ อยู่ให้รอดอย่างไรในยุคโควิด แถมมีรายได้หลักแสน! หจก.รังสรร ซุปเปอร์สโตร์ จ.แพร่

เมื่อเอ่ยถึง “ร้านขายของชำ” แน่นอนว่า ทุกคนย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือธุรกิจค้าปลีกรายย่อย ที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวังมากขึ้น ดังนั้น ร้านขายของชำ จึงไม่สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างปกติเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ต้องเร่งปรับตัว เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองยังเดินหน้าต่อไปได้

คุณรังสรร กล่อมดวงจันทร์ หรือ คุณสรร เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด รังสรรซุปเปอร์สโตร์ ในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ เล่าประสบการณ์บริหารร้านขายของชำที่เปิดมานานถึง 16 ปี จนโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ธุรกิจของเขา ยังเดินหน้าต่อไปได้ ด้วยรายได้สูงสุดหลักแสนบาท มีค่า นิวส์ จึงชวนคุณสรร มาแชร์เทคนิคอยู่ให้รอดอย่างไรในยุคโควิดกับ SME ทันข่าว

เปลี่ยนจากตระเวนขายเสื้อผ้า มาขายของชำ เพราะอยากอยู่ครอบครัว  

คุณสรร เล่าจุดเริ่มต้นว่า ตัวเขาเองเคยเป็นเซลล์ ตระเวนขายเสื้อผ้าตามต่างจังหวัดมาก่อน แม้รายได้ดี แต่ต้องแลกกับการเดินทาง ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัว จนมาถึงจุดเปลี่ยน คือ ภรรยาตั้งครรภ์ ประกอบกับผู้คนหันมาค้าขายมากขึ้น รายได้เริ่มลดลง แต่รายจ่ายมากขึ้น คุณสรร จึงมีความคิดว่า อยากจะขายของที่บ้านเกิด เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น

จึงศึกษาตลาดค้าขายในพื้นที่ว่า ขายอะไรบ้าง มีคู่แข่งมากน้อยเพียงใด กระทั่งมาลงตัวที่การเปิดร้านขายของชำ เพราะกลุ่มเป้าหมาย เป็นชาวบ้าน เกษตรกร น่าจะขายสินค้าได้ดี จากนั้นก็ตัดสินใจลงทุนประมาณ 9 แสนบาท ปรับปรุงบ้านพักในอำเภอสอง จังหวัดแพร่ ให้เป็นร้านขายของชำ เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 จนขณะนี้ปี 2564 นานถึง 16 ปีแล้ว

ขั้นตอนบริหารร้านศึกษาเรียนรู้เองทั้งหมด จนธุรกิจเติบโตเป็น หจก.

สำหรับการเริ่มต้นเปิดร้านขายของชำ คุณสรรกับภรรยา ใช้วิธีซื้อมาขายไป ลงทุนเท่าไหร่ ก็ขายเท่านั้น จะไม่ทุ่มเงินลงไปทั้งหมด และจะศึกษาตลาดว่า ร้านอื่นเขาขายอะไร ราคาเท่าไหร่ พร้อมทั้งเรียนรู้จากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าในร้าน โดยลูกค้าจะแนะนำว่า อยากให้นำสินค้าอะไรมาขาย ร้านไหน ขายราคาเท่าไหร่ เป็นต้น

ทำให้คุณสรร ปรับกลยุทธ์ค้าขายได้ดีขึ้น รู้จักพ่อค้าขายส่ง บริษัทรายใหญ่ ๆ ที่จะซื้อสินค้าในราคาถูก แต่นำมาขายต่อได้กำไรดี โดยที่ราคาไม่สูงมาก ลูกค้าประทับใจ รายได้จึงพุ่งสูงถึงหลักแสนบาท ภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน และเพียงไม่กี่ปี ก็สามารถจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) จากที่ทำธุรกิจสองคน เริ่มจ้างพนักงานมาช่วยได้จำนวนกว่า 20 ชีวิต

ซึ่งคุณสรร กระซิบเคล็ดลับการบริหารร้านกับมีค่า นิวส์ว่า หัวใจสำคัญ คือ การบริการลูกค้า ทำอย่างไรก็ได้ให้ลูกค้าประทับใจ ให้เขามาซื้อสินค้าของเราได้ตลอด เขามาซื้อแล้วมีความสุข บางครั้งไม่จำเป็นต้องดึงดูดด้วยราคาก็ได้ แต่ให้เขามั่นใจว่ามาซื้อสินค้าของเรา จะได้ของที่ดี มีคุณภาพ สินค้าต้องดูดี สะอาด ซื้อสัตย์ ไม่เอาเปรียบลูกค้า รักษาความรู้สึกของลูกค้า เราถึงจะอยู่ได้”

โควิด-19 กระทบกับธุรกิจ แต่ทำไมยังอยู่ได้

คุณสรร เล่าว่า ก่อนหน้าโควิดแพร่ระบาด ขายของดีมาก แต่เมื่อโควิดแพร่ระบาดแล้ว คนไม่กล้าออกมาซื้อของที่ร้าน บรรยากาศเงียบเหงา รายได้ที่ร้านลดลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ที่หลักแสนบาท เหตุผลหนึ่งอาจจะมาจากที่รัฐบาลเปิดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการเพิ่มกำลังซื้อ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่ร้านของคุณสรร ก็เข้าร่วมเป็นร้านธงฟ้าประชารัฐ ทำให้ลูกค้ากล้าออกมาจับจ่ายซื้อสินค้า

คุณสรร เลยปรับกลยุทธ์เพิ่มเติม เพื่อให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ดังนี้

1. จัดโปรโมชัน นำสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก มาลดราคา เช่น ผงซักฟอกหากซื้อภายใน 15 วัน จะได้ราคาถูก เป็นต้น

2. บริหารเงินทุน และรายรับ รายจ่ายให้ดี ซื้อสินค้าหลัก ๆ ที่จำเป็นก่อน สินค้าที่มีคนซื้อไม่มาก จะงดซื้อมาขาย

นอกจากนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น คุณสรร อยากขยายร้านเพิ่มเติม เพื่อผันตัวเป็นผู้ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดแพร่ต่อไป

ฝากกำลังใจถึงผู้ประกอบการ 

“อยากให้สู้ ๆ สักวันสถานการณ์โควิด จะต้องดีขึ้น ขอให้ทุกคนปรับตัวอยู่กับมันให้ได้ ระมัดระวังตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ การบริหารธุรกิจก็ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ ประคองธุรกิจให้อยู่รอดไปให้ได้”

มีค่า นิวส์ คิดว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด รังสรรซุปเปอร์สโตร์ เป็นตัวอย่างของการทำธุรกิจร้านขายของชำ ที่มีวิธีปรับตัวที่น่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ธุรกิจก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ หวังว่าทุกคนคงจะนำแง่คิด มุมมองการทำธุรกิจของคุณรังสรร ไปปรับใช้ในธุรกิจของตัวเองได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

Exit mobile version