Mekha News (มีค่านิวส์) : เว็บไซต์ข่าว ที่จะนำเสนอข่าวสารเพื่อรักษาสิทธิให้กับคุณ

เช็กราคา 3 อุปกรณ์การแพทย์ ตัวช่วยผู้สูงอายุ มีติดบ้านไว้ ป้องกันความเสี่ยงโรคได้

เมื่อก้าวเข้าสู่วัยเก๋า 60 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุหลายคน เริ่มมีปัญหาสุขภาพตามมา เนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มถดถอย ประกอบกับมีปัจจัยเสี่ยงภายนอก ที่มีส่วนเร่งให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น การดูแลตัวเอง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุจะต้องให้ความใส่ใจ ทั้งคนที่มีโรคประจำตัว หรือ คนสุขภาพดีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุมีติดไว้ที่บ้าน พกพาขณะเดินทาง ป้องกันความเสี่ยงโรคต่าง ๆ

มีค่า นิวส์ จึงขอแนะนำ 3 อุปกรณ์การแพทย์ ที่ผู้สูงอายุควรมีติดบ้าน พร้อมสำรวจราคามาให้เพื่อจะได้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ต.ค.)

1.เครื่องวัดความดันโลหิต

โรคความดันโลหิตสูง เป็นอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวสำหรับผู้สูงอายุ โดยค่าความดันที่อยู่ในเกณฑ์ความดันโลหิตสูง ต้องมีค่าเท่ากับ หรือ มากกว่า 140-159 (ตัวบน) หรือ 90-99 ตัวล่าง ซึ่งความดันโลหิตนั้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เครื่องวัดความดันโลหิตจึงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ เพราะหากพบความผิดปกติ จะได้รักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเองค่ะ

มารู้จักเครื่องวัดความดันโลหิต พร้อมราคา มีอยู่ 3 ชนิดคือ

– เครื่องวัดความดันชนิดปรอท วัดง่าย ใช้หลักการแรงโน้มถ่วงของโลก ให้ผลการวัดที่แม่นยำ ส่วนข้อเสียคือ มีขนาดใหญ่ พกพาลำบาก เครื่องจะต้องตั้งตรงบนพื้นเรียบ แท่งปรอทจะต้องอยู่ระดับสายตา จึงจะอ่านค่าได้แม่นยำ

ราคาเปรียบเทียบจาก Shopee, Lazada, Omron, YUWELL ประมาณ 600-7,000 บาท (ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นำเข้าจากต่างประเทศจะยิ่งราคาสูง)

– เครื่องวัดความดันชนิดขดลวด ราคาไม่แพง น้ำหนักเบา พกพาสะดวก วางตำแหน่งไหนก็ได้ บางรุ่น มีหูฟังอยู่ในสายพันแขน ข้อเสีย คือ เครื่องมือมีกลไกซับซ้อน ต้องปรับเครื่องมือโดยเทียบกับเครื่องมือชนิดปรอทอย่างน้อยปีละครั้ง ถ้าเสียก็ต้องส่งไปซ่อม

ราคาเปรียบเทียบจาก Shopee, Lazada, Omron, YUWELL ประมาณ 200-3,000 บาท (ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นำเข้าจากต่างประเทศจะยิ่งราคาสูง)

– เครื่องวัดความดันชนิดดิจิตอล  ไม่ต้องมีหูฟัง หรือ ลูกยางสำหรับบีบลม ทำให้สะดวกในการใช้งาน พกพาได้ง่าย ข้อผิดพลาดน้อย เหมาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ข้อเสีย คือ มีกลไกซับซ้อน แตกหักง่าย ต้องตรวจสอบความแม่นยำเทียบกับเครื่องชนิดปรอท หากร่างกายเคลื่อนไหว จะทำให้เกิดการผิดพลาด ราคาค่อนข้างแพง ต้องใช้ไฟฟ้า

ราคาเปรียบเทียบจาก Shopee, Lazada, Omron, YUWELL ประมาณ 300-60,000 บาท (ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นำเข้าจากต่างประเทศจะยิ่งราคาสูง)

เทคนิคเลือกซื้อเครื่องวัดความดันโลหิต

– ควรเลือกใช้เครื่องวัดแบบดิจิตอล เพราะสะดวกและใช้งานง่ายสำหรับผู้สูงอายุ

– สายรัดแขนสามารถใส่ได้ง่าย การเลือกเครื่องวัดความดันที่มีสายรัดแขนซึ่งสวมใส่ได้ด้วยตนเองนับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากทำให้ผู้วัดความดันสามารถทราบค่าความดันโลหิตของตนเองได้ แม้จะอยู่ลำพัง

– มีความแม่นยำสูงความแม่นยำสูง จะทำให้การวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นไปอย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้การรักษาโรคสะดวกและง่ายดายกว่าเดิม

– เลือกเครื่องวัดความดันโลหิตที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน เช่น CE (European Conformity:CE) หรือ เครื่องหมาย UL (Underwriters’ Laboratories :UL) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าเครื่องมือนั้นได้รับการออกแบบและการผลิตที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามข้อบังคับอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป หรือ ตรวจสอบได้จากเครื่องหมาย มอก.มาตรฐานประเทศไทย เป็นต้น

คำแนะนำในการใช้เครื่องวัดความดันโลหิต

– ไม่ควรวัดความดันทันทีหลังอาหารมื้อหลัก ควรห่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

– ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือ สูบบุหรี่ก่อนทำการวัด

– ไม่ควรวัดขณะที่ร่างกายเหนื่อย หมดแรง อ่อนเพลีย หรือ มีอารมณ์เครียด

– ถ้าใช้เครื่องวัดความดันที่ต้นแขน ให้วัดในท่านั่ง วางแขน และข้อศอกบนโต๊ะ จัดระดับให้ผ้าพันต้นแขน หรือ ผ้าพันข้อมืออยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

ถ้าใช้เครื่องวัดความดันที่ข้อมือ ให้วัดในท่านั่ง วางข้อมือให้อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ

2.เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด

จากข้อมูลสถิติโรคฮิตของผู้สูงอายุ พบว่า เบาหวานเป็นโรคที่มีผู้ป่วยมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2562 พบผู้ป่วยสูงอายุชาย จำนวนกว่า 5.1 ล้านคน ส่วนผู้ป่วยสูงอายุหญิง จำนวนกว่า 6.4 ล้านคน แม้ไม่มีความเสี่ยงก็ควรจะได้รับการเช็คสุขภาพด้วย “เครื่องวัดน้ำตาลในเลือด” เพื่อวัดค่าน้ำตาลในเลือดป้องกันและควบคุมรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ติดตามความเปลี่ยนแปลงของค่าระดับน้ำตาลในเลือดในแต่ละวัน เพื่อวางแผนและแนวทางในการรักษาโรค

วิธีอ่านค่าวัดน้ำตาลในเลือด

– ค่าปกติจะอยู่ระหว่าง 70 -100 mg/dL

– หากเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน ค่าจะอยู่ระหว่าง 100-125 mg/dL

– สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ค่าจะมากกว่า 126 mg/dL

***ควรวัดหลังจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง

มารู้จักเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด พร้อมราคา มีอยู่ 2 ชนิดคือ

– แบบไม่เจาะเลือด เป็นการใช้เทคโนโลยีโดยใช้ตัวเซนเซอร์ฝังเข้าไปที่ชั้นใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน  วัดค่าน้ำตาลจากของเหลวระหว่างเซลล์ ตัวเครื่องจะส่งค่าน้ำตาลผ่านบลูทูธมายังโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อไว้ เพื่อบันทึกและแสดงผล สะดวกกับแพทย์ในการติดตามค่าระดับน้ำตาลแบบเรียลไทม์และย้อนหลัง

ราคาประมาณ 4,000 – 5,000 บาท ต้องมีการเปลี่ยนตัวเซนเซอร์ทุก 7 – 14 วัน ซึ่งตัวเซนเซอร์นี้ มีราคาอยู่ที่ 2,000 – 2,500 บาท (ราคาแตกต่างกันไปตามผู้จำหน่าย)

– แบบเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว เป็นวิธีที่ใช้กันมากและแพร่หลายที่สุด มีการรับรองมาตรฐานมาอย่างยาวนาน มีความแม่นยำและได้มาตรฐานที่สุดในปัจจุบัน หากเจาะเลือดที่ปลายนิ้วแล้วรู้สึกเจ็บมาก อาจจะแก้ไขโดยการปรับระดับความลึกของปากกาเจาะเลือดให้น้อยลง และเลือกใช้เครื่องตรวจน้ำตาลที่ใช้ตัวอย่างเลือดน้อย

ราคาเปรียบเทียบจาก Shopee, Lazada, Omron, YUWELL ประมาณ 150-10,000 บาท (ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นำเข้าจากต่างประเทศจะยิ่งราคาสูง)

เทคนิคเลือกซื้อเครื่องวัดน้ำตาลในเลือด

1. ได้รับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และจำหน่ายโดยร้านที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น มาตรฐาน CE (มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขภาพ) มาตรฐาน ISO 13485 (มาตรฐานการจัดการในด้านคุณภาพเครื่องมือแพทย์) มาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) เป็นต้น

2. ใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก เลือกเครื่องที่อ่านค่าน้ำตาลโดยอัติโนมัติ ไม่ต้องใส่โค้ด หรือเซ็ตให้ยุ่งยาก เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาผู้ดูแล

3. ใช้ตัวอย่างเลือดน้อย อ่านค่าได้รวดเร็ว ควรใช้ตัวอย่างเลือดไม่เกิน 1 ไมโครลิตร (µL) เพราะการใช้ตัวอย่างเลือดน้อย จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเจาะปลายนิ้วลึกหากเลือดไม่พอ

4. มีอุปกรณ์ครบชุดพร้อมใช้งาน ควรเลือกซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลที่มาพร้อมอุปกรณ์ครบชุด ทั้งตัวเครื่อง ปากกาเจาะเลือด เข็ม และแผ่นตรวจให้ครบ พร้อมใช้งานทันที

5. มีฟังก์ชันเสริมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น เช่น บันทึกผลการวัดน้ำตาลได้ไว้ดูย้อนหลังได้ หน้าจอสว่างอ่านค่าได้ง่าย ชาร์จแบตเตอรี่ได้ไม่เปลืองถ่าน

3.เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด

ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำลังระบาดอย่างต่อเนื่อง แถมยังมีหลากหลายสายพันธุ์ อาการของแต่สายพันธุ์ของแตกต่างกันไป ทำให้เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด กลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นต่อผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ

คุณสมบัติของเครื่องวัดออกซิเจน

– ใช้วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในกระแสเลือดและสามารถวัดชีพจรได้

– มีขนาดเล็ก ใช้งานสะดวก บางรุ่นพกพาได้

– ไม่สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 แต่ใช้เฝ้าระวัง ติดตามอาการของโควิด-19 ได้

การใช้งาน

– หนีบนิ้วใดนิ้วหนึ่ง แล้วรอให้ตัวเลขนิ่งก่อนอ่านค่า หากค่าอยู่ที่ 96 – 100 % ค่าปกติ แต่ถ้าค่าอยู่ที่ 95 % หรือ ต่ำกว่า หมายถึงมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรปรึกษาแพทย์

– ไม่ควรวัดค่าออกซิเจนในเลือดขณะออกกำลังกายหรือมีอาการเหนื่อยจากกิจกรรม

– การทาเล็บ ติดเครื่องประดับที่เล็บอาจส่งผลให้เครื่องอ่านค่าคลาดเคลื่อนได้

หมายเหตุ : หากมีโรคประจำตัวบางกลุ่ม หรือ สูบบุหรี่จัดอาจส่งผลให้ความอิ่มตัวออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติได้

ราคาเปรียบเทียบจาก Shopee, Lazada, Omron, YUWELL ประมาณ 150-10,000 บาท (ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นำเข้าจากต่างประเทศจะยิ่งราคาสูง)

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเลือกซื้ออุปกรณ์ทั้ง 3 ประเภท ผู้สูงอายุ ต้องระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพด้วยนะคะ สำหรับวิธีป้องกัน มีค่า นิวส์ แนะนำให้ผู้สูงอายุตรวจสอบฉลากบนผลิตภัณฑ์ว่าผ่านการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ ดูวิธีตรวจสอบฉลาก อย.ที่นี่ >>  https://mekhanews.com/2021/08/28/how-to-check-the-fda-label/

ที่มา : https://elderlysociety.com/4-items-for-health/

https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/174/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95/

https://www.thaihealth.or.th/blog/myblog/topic/757/liqueur%20nick/1175/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/17323/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%20%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8/

https://allwellhealthcare.com/how-to-choose-blood-glucose-meter/

Exit mobile version